เมื่อวันที่ 11 พ.ย. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับฟ้องคำร้องแพทยสภาปมจ่ายยา 16 อาการ รับยาที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยร้านยาใกล้บ้าน ร้านยาชุมชนอบอุ่น เป็นหนึ่งในนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ว่า เรื่องนี้ สปสช.ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ไปแล้ว เดิม 16 กลุ่มอาการ เมื่อตนมารับตำแหน่งก็จะเพิ่มเป็น 32 กลุ่มอาการ ซึ่งเมื่อมีเสียงคัดค้านก็คงต้องมีการหารือเพื่อหาทางแก้ไข โดยวันที่ 13 พ.ย.นี้ ตนจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อหาว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว

ด้าน พญ.ชัญวลี ศรีสุโข  กรรมการแพทยสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า มีคำถามจากคุณหมอท่านหนึ่งมาว่า “การห้ามเภสัชจ่ายยาร้านขายยา เภสัชจะห้ามแพทย์จ่ายยาที่คลินิกหรือไม่” พร้อมชี้แจง ดังนี้  1. ใครจะไปห้ามเภสัชจ่ายยาร้านขายยา ตอนนี้เป็นเรื่องของการจ่ายเงินให้เภสัชฯ จ่ายยาโดย สปสช. ใน 32 กลุ่มอาการ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อประชาชน ทั้งกลุ่มอาการที่มากไปรวมถึงจำนวนยาที่มากไป ด้วยยานั้น หลายชนิดควรเป็น prescription drug ที่แพทย์ควรจะเป็นคนสั่ง หลังจากได้วินิจฉัยโรคแล้ว ซึ่ง กว่าจะวินิจฉัยได้บางอย่างต้องผ่านการ investigation (สอบสวนโรค) มาก่อน ตอนนี้คดี ว่าการจ่ายยาของเภสัชคลินิกชุมชนอบอุ่น โดยสปสช.จ่ายเงิน เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือไม่ กำลังอยู่ในศาลปกครองชั้นต้น

2. การจ่ายยาของแพทย์ในคลินิก โดยไม่มีเภสัชกร เป็นการกระทำที่ทำได้รองรับโดย พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ในมาตรา 13 การประชุมล่าสุดของสภาเภสัช คงให้อำนาจการจ่ายยานอกจากเภสัชกรเฉพาะ 3 วิชาชีพหลักเช่นเดิม คือแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ โดยมีบันทึกดังนี้…ส่วนวิชาชีพอื่นๆ เห็นตรงกันว่าไม่ควรให้อำนาจในการจ่ายยาเพิ่มเติม เนื่องจากอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ทั้งการหาประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยในการรับยาได้ ทั้งยังไม่สอดคล้อง และขัดต่อหลักการในแต่ละวิชาชีพ เนื่องจากแต่ละวิชาชีพในระบบสุขภาพ นอกจากแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์แล้ว ไม่ได้มีหน้าที่รักษาคนไข้ อาทิ พยาบาลมีหน้าที่ดูแลคนไข้ นักเทคนิกการแพทย์มีหน้าที่ตรวจสิ่งส่งตรวจ และนักกายภาพบำบัด มีหน้าที่บำบัดคนไข้โดยไม่ใช้ยา เป็นต้น จึงไม่เกี่ยวข้องกับการจ่ายยาแต่อย่างใด

สรุป การฟ้องร้อง สปสช.และสภาเภสัชฯ โดยแพทยสภา ไม่เกี่ยวกับการห้ามเภสัชจ่ายยาตามธรรมเนียมเดิมแม้แต่น้อย และไม่เกี่ยวข้องกับสภาเภสัชฯ จะมาห้ามแพทย์จ่ายยาที่คลินิกเช่นกัน