จากกรณีเมื่อวันที่ 11 พ.ย. คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณี การดำเนินคดีอาญากับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก นำโดย ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูลฯ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม 2 ข้อกล่าวหา อันประกอบด้วย พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5 และ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 19, 20 ต่อผู้ต้องหา 18 บอสดิไอคอนฯ และ 1 นิติบุคคล พร้อมสอบสวนปากคำภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 119/2567 เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ ว่า สำหรับภาพรวมการให้ปากคำของกลุ่มผู้ต้องหาชายคดีดิไอคอนฯ ทั้ง 11 ราย เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา ทุกคนเพียงรับทราบข้อกล่าวหาเท่านั้น ยังไม่มีใครให้การอะไร เพราะเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้สอบสวนปากคำในหลายประเด็น แต่ทั้งหมดแจ้งว่าจะขอทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ส่วนการจะชี้แจงว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดในข้อหาแชร์ลูกโซ่ตามที่ดีเอสไอแจ้งข้อหาอย่างไรนั้น ก็เป็นสิทธิของผู้ต้องหา เพราะรายละเอียดพฤติการณ์ต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอก็ได้แจ้งผู้ต้องหารับทราบแล้วว่า ลักษณะใดคือแชร์ลูกโซ่ อาทิ การเน้นหาสมาชิกมากกว่าการเน้นขายสินค้า เป็นต้น

เมื่อถามว่ากรณีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล เป็นอย่างไร เจ้าตัวมีท่าทีอย่างไรบ้าง นิ่งไม่ไหวติงหรือไม่ คณะพนักงานสอบสวน ระบุว่า ค่อนข้างนิ่ง และเหมือนเดิม แต่ไม่ได้ตอบคำถามอะไรกับพนักงานสอบสวน แค่รับฟังข้อกล่าวหาและปฏิเสธข้อกล่าวหา

ต่อข้อถามว่าการทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ต้องหา ทางดีเอสไอจะต้องเข้ามารับเอกสารต่อหน้าผู้ต้องหาภายในเรือนจำหรือไม่ หรือทนายความสามารถนำเอกสารดังกล่าว ไปมอบให้ดีเอสไอแทนได้ คณะพนักงานสอบสวน ระบุว่า ทนายความคือผู้ได้รับมอบอำนาจแทนลูกความ ดังนั้น ลูกความสามารถส่งเอกสารชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าวผ่านทางทนายได้ จากนั้นเอกสารแก้ข้อกล่าวหาเหล่านี้ จะถูกนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อมีมติว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หรือเป็นการตรวจคำให้การแก้ข้อกล่าวหาของผู้ต้องหา รวมถึงหากที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องทำการสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่สงสัย ก็จะต้องเข้าไปสอบสวนปากคำภายในเรือนจำอีกครั้ง