เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ 1. ร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ศ. …. (จำนวน 4 แห่ง) 2.ร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พ.ศ. …. (จำนวน 2 แห่ง) ซึ่งกระทรวงทรัพยากรฯ ได้แก้ไขในส่วนบัญชีท้ายและแผนที่ท้ายจากร่างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาให้สอดคล้องกับผลการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (วันแม็พ)
นายคารม กล่าวอีกว่า สำหรับสาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ มีดังนี้ 1.กำหนดให้มีโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า (โครงการฯ) มีกำหนดระยะเวลา 20 ปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ก่อนวันที่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ แล้วแต่กรณี ได้อยู่อาศัยหรือทำกินเป็นการชั่วคราว โดยมีการกำหนดเขตพื้นที่อยู่อาศัยหรือทำกินที่ชัดเจนและไม่ให้มีการขยายพื้นที่อีก
2. กำหนดให้โครงการฯ ดำเนินการในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาและให้มีแนวเขตโครงการฯ ที่กำหนดไว้ในแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา แบ่งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง ดังนี้ 1. อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ 2. อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี 3. อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จ.จันทบุรี 4. อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ จ.กาญจนบุรี 5. อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ จ.อุตรดิตถ์ 6. อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จ.เพชรบูรณ์ และ 7. อุทยานแห่งชาติลานสาง จ.ตาก ส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 7 แห่ง ดังนี้ 1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง จ.เพชรบูรณ์ 2. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา จ.อุตรดิตถ์ 3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี 4. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอ จ.เชียงราย 5. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี 6. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล จ.พิษณุโลก และ 7. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จ.อุทัยธานี
3. กำหนดให้ผู้อยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้โครงการฯ ต้องเป็นผู้อยู่อาศัยหรือทำกินตามผลการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และได้อยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้กรอบเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ หรือตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ 17 มิ.ย. 2557 โดยการอยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้โครงการฯ ทำได้ในจำนวนเนื้อที่ตามผลการสำรวจแต่ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ และในกรณีครัวเรือน (ครอบครัวตั้งแต่ 2 ครอบครัวขึ้นไปที่ทำกินร่วมกันในสถานที่เดียวกันหรือในบริเวณพื้นที่ทำกินเดียวกัน) ให้อยู่อาศัยหรือทำกินได้ไม่เกิน 40 ไร่
4. กำหนดให้ผู้อยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้โครงการฯ แบ่งเป็น 2 ประเภท 1.ผู้ครอบครองที่ดิน และ 2. สมาชิกในครอบครัวหรือครัวเรือน โดยต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ 1. มีสัญชาติไทย 2. อยู่อาศัยและทำประโยชน์บนที่ดินที่อยู่อาศัยหรือทำกินตามโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง และไม่มีที่ดินทำกินอื่นนอกเขตพื้นที่โครงการฯ 3. ไม่มีที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัยอื่น 4. ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ออกจากอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 5. ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดเกี่ยวกับการยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่จากเดิม ทำไม้ ล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าว นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ 6. ไม่เคยถูกพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนสิทธิการอยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
5. เหตุที่จะทำให้โครงการสิ้นสุด เช่น เมื่อระยะเวลาของโครงการฯ สิ้นสุดลง ผู้ครอบครองที่ดินไม่ประสงค์จะอยู่อาศัยหรือทำกินในที่ดินนั้นต่อไป ผู้ครอบครองที่ดินไม่ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้อยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้โครงการฯ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ผู้อยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้โครงการฯ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตามกฎหมาย ว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติหรือกฎหมายว่าด้วยป่าชุมชน เป็นต้น 6. ผู้ครอบครองที่ดินจะโอนการครอบครองให้บุคคลอื่นหรือยินยอมให้บุคคลอื่นที่มิใช่สมาชิกในครอบครัวหรือครัวเรือนเข้าอยู่อาศัยหรือทำกินไม่ได้ ในกรณีผู้ครอบครองที่ดินเสียชีวิต บุคคลที่เป็นสมาชิกในครอบครัวหรือครัวเรือนของผู้ครอบครองที่ดินที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้อยู่อาศัยหรือทำกินในที่ดินแปลงนั้น บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ครอบครองที่ดินหรือบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ครอบครองที่ดินได้รับรองแล้วหรือคู่สมรสที่ยังมีชีวิตของผู้ครอบครองที่ดิน อาจยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย เพื่อขออยู่อาศัยหรือทำกินในที่ดินแปลงนั้นต่อไป
7. ผู้อยู่อาศัยหรือทำกิน ต้องไม่รบกวนการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไม่ทำลายแหล่งอาศัยหรือหากินของสัตว์ป่า และไม่ล่าสัตว์ป่าในพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งการทำการเกษตรหรือการอื่นใดเพื่อดำรงชีพต้องไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพดิน น้ำ อากาศ สัตว์ป่า ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ต้องดำเนินการและให้ความร่วมมือกับราชการในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่โครงการฯ 8. การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงการใช้อาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่โครงการฯ ต้องเป็นไปเพื่อการอยู่อาศัยหรือทำกินเท่าที่จำเป็นแก่การดำรงชีพ ต้องสูงไม่เกิน 2 ชั้น มีลักษณะกลมกลืนกับธรรมชาติ ภูมิทัศน์ และสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถก่อสร้งกัดแปลงสิ่งก่อสร้างเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น โรงงานหรือโรงแรม เป็นต้น 9. พนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่และอำนาจภายในพื้นที่โครงการฯ เช่น สั่งห้ามการกระทำใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ หรืออาจทำให้แนวเขตพื้นที่โครงการฯ เปลี่ยนแปลง สั่งให้ผู้อยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้โครงการฯ ปฏิบัติหน้าที่ตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด สั่งให้ผู้อยู่อาศัยหรือทำกินออกจากพื้นที่โครงการภายหลังการสิ้นสุดการอยู่อาศัยหรือทำกิน เป็นต้น
นายคารม กล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ดังกล่าว ก่อนวันที่ พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับดังกล่าวใช้บังคับ แผนที่ท้ายแสดงแนวเขตแต่ละโครงการฯ ในร่างพระราชกฤษฎีกานี้ จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการกำหนดแนวเขตใหม่และแก้ไขแนวเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า แต่อย่างใด ดังนั้น ทส. เห็นว่าร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ ไม่ได้มีการดำเนินการที่ขัดหรือแย้งกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาในเรื่องการทับซ้อนของแนวเขตที่ดินของรัฐที่แต่ละหน่วยงานใช้มาตราส่วนแผนที่ที่แตกต่างกัน โดยการวันแม็พตามที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มีความเห็นในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2567 ทั้งนี้เมื่อ ครม. มีมติให้ความเห็นชอบผลการดำเนินการวันแม็พ แล้วมีผลให้แนวเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเดิมเปลี่ยนแปลงไปแนวเขตโครงการฯ ตามพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ ก็ย่อมเป็นไปตามแนวเขตที่เปลี่ยนแปลงนั้น และไม่ส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้โครงการฯ แต่อย่างใด อีกทั้งในระหว่างที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงแผนตามวันแม็พ ร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ยังมีผลเป็นการยกเว้นโทษให้กับประชาชนที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ดังกล่าว
ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องตราร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัย และทำมาหากินในพื้นที่ป่าโดยไม่ถือเป็นความผิดอาญา ระหว่างรอการพิสูจน์สิทธิ์ว่าอยู่มาก่อนหรือหลังการประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตห่ามล่า หรือเหตุรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 หรือไม่ เพราะกฎหมายเดิมที่บังคับใช้ก่อนปี 2562 กำหนดให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกประกาศเหล่านั้นเป็นความผิดอาญาสถานเดียว ทำให้เกิดข้อโต้แย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องมีการพิสูจน์สิทธิกันเสมอมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ มีการกำหนดบทเฉพาะกาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในป่า และยังอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน โดยประชาชนสามารถอาศัย และทำมาหากินในพื้นที่นั้นได้โดยไม่ถือเป็นความผิดอาญา แต่หากพิสูจน์ได้ว่าประชาชนอยู่อาศัยมาก่อนประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นเขตอุทยาน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ หรือเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าฯจริง ทางราชการก็ต้องเพิกถอนพื้นที่ที่เขาอยู่นั้นออกจากการเป็นพื้นที่ประกาศเหล่านั้น แต่หากพิสูจน์ได้ว่าประชาชนมาอยู่ทีหลัง ตามกฎหมายประชาชนก็ต้องย้ายออก