สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ว่ากระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาเผยแพร่แถลงการณ์ เมื่อวันอาทิตย์ ว่ารายงานฉบับล่าสุด จัดทำโดยนายโธมัส แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษด้านกิจการเมียนมา ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) ประจำภูมิภาคเอเชีย “เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา” รายงานดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มความแตกแยกภายในประเทศ และเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงภายใน


ทั้งนี้ เนื้อหาตอนหนึ่งจากรายงานดังกล่าวระบุว่า ยูเอ็นมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในภาคเหนือของเมียนมา ที่มีแนวโน้มลุกลามบานปลายเป็นหายนะ จากการได้รับข้อมูลว่า กองทัพเมียนมาเร่งเสริมกำลังพลและสรรพาวุธเข้าสู่พื้นที่ทางเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ โดยรูปแบบการเคลื่อนไหวลักษณะนี้ “เป็นลางร้าย” ที่เป็นการเตือนก่อนทหารเมียนมาปฏิบัติการด้านความมั่นคง ในรัฐยะไข่ ระหว่างปี 2559-2560 ส่งผลให้ชาวโรฮีนจามากกว่า 1 ล้านคน ลี้ภัยการสู้รบไปยังบังกลาเทศ


อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาออกแถลงการณ์อีกฉบับ ยืนยันการยึดมั่นและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด “มากเท่าที่จะเป็นไปได้” ตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่บรรลุร่วมกับสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อีก 9 ประเทศ ในการประชุมร่วมกัน ที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา


แม้ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน เพิ่งออกแถลงการณ์ตำหนิการดำเนินงานของบรูไน ซึ่งอยู่ในฐานะประธานอาเซียนประจำปีนี้ ขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับกฎบัตรอาเซียน ที่เมียนมาเป็นหนึ่งในสมาชิก ด้วยเหตุนี้ เมียนมาจึงไม่อยู่ในสถานะที่จะยอมรับผลการหารือของการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 ต.ค.นี้ และมติใดก็ตามของที่ประชุม ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการของกฎบัตรอาเซียน


ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไทยปฏิเสธ ให้ความเห็นอย่างเป็นทางการต่อประเด็นเมียนมา โดยให้เหตุผลว่า “เป็นเรื่องเปราะบาง” ส่วนกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวว่า การเชิญผู้แทนของเมียนมาสำหรับการประชุมครั้งนี้ “จะเป็นไปตามมติของสมาชิกอาเซียนทั้งหมด”.

เครดิตภาพ : AP