รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 ตุลาคม 2564 เตรียมพิจารณาข้อเสนอของหน่วยงานต่าง ๆ โดยกระทรวงพาณิชย์เสนอโครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งจะครอบคลุมพืชสำคัญทั้ง 3 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงมาตรการคู่ขนานเพื่อจะช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาพืชแต่ละชนิด แยกเป็น โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 มีกรอบวงเงินที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) วงเงิน 89,402 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายเกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 4.689 ล้านครัวเรือน
โดยราคาและปริมาณประกันรายได้ คือ ราคาความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ยกเว้นข้าวเจ้า ไม่เกิน 50 ไร่ โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
ส่วนการประกันรายได้ประกันรายได้มันสำปะหลัง ปีการผลิต 2564/65 มีวงเงิน 6,811 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับประกันรายได้ มันสำปะหลังที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท แต่ไม่เกิน 100 ตันต่อครัวเรือน และไม่ซ้ำแปลง คาดว่า จะช่วยดูแลเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังกว่า 520,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ และมาตรการคู่ขนาน 4 โครงการ คือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง และโครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง
ขณะที่การประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564/65 และมาตรการคู่ขนาน ครอบคลุมเกษตรกร 4.2 แสนครัวเรือน วงเงินประมาณ 1,800 ล้านบาท โดยใช้หลักการเดียวกับประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีก่อน กำหนดราคาเป้าหมายกิโลกรัมละ 8.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ เป้าหมายเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตรจำนวนประมาณ 452,000 ครัวเรือน ที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 64 – 31 พ.ค. 65 และมาตรการคู่ขนาน คือ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่ม เป้าหมาย 150,000 ตัน และโครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป้าหมาย 200,000 ตัน
นอกจากนี้ยังมีวาระอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …. และกระทรวงการคลัง เสนอการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่คู่สัญญาในการขายที่ราชพัสดุที่ตกเป็นของแผ่นดินตามค้าพิพากษาของศาล