อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอหมู วีระศักดิ์” ซึ่งเปิดผลการศึกษาวิจัยใหม่ล่าสุดว่า “การนอนหลับเพียงพอช่วยลดความเสี่ยงความดันโลหิตสูงในวัยรุ่น”
โดยหมอหมู ระบุข้อความว่า “วัยรุ่นอายุระหว่าง 12-19 ปี มี 1 ใน 7 คน ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง วัยรุ่นที่ปฏิบัติตามคำแนะนำในการนอนหลับวันละ 9-11 ชั่วโมง มีความเสี่ยงความดันโลหิตสูงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตามผลการศึกษาใหม่ของ UTHealth Houston และผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารของ American Heart Association เมื่อไม่นานนี้ ซึ่งติดตามพัฒนาการทางชีววิทยา และพฤติกรรมของวัยรุ่น 3,320 คน ทั่วสหรัฐอเมริกา”
นอกจากนี้ ยังเผยให้เห็นว่า “วัยรุ่นมีความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงลดลง 37% หากนอนหลับอย่างถูกวิธี และเพียงพอ อีกทั้งผลกระทบของเสียงรบกวนในละแวกบ้านและชุมชน ไม่มีความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ กับอุบัติการณ์ของความดันโลหิตสูง แม้การศึกษานี้เน้นย้ำถึงความสำคัญ ของการปรับปรุงพฤติกรรมการนอนหลับ และการปฏิบัติตามคำแนะนำ โดยจะนอนหลับให้เพียงพอ และมีตารางการนอนหลับที่สม่ำเสมอ”
โดยจำนวนชั่วโมงการนอนหลับของเด็กและวัยรุ่น ควรขึ้นอยู่กับอายุ “American Academy of Sleep Medicine” แนะนำดังนี้
1. 10-13 ชั่วโมงต่อคืน สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
2. 9-12 ชั่วโมงต่อคืน สำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี
3. 8-10 ชั่วโมงต่อคืน สำหรับอายุ 13-18 ปี
4. 7-9 ชั่วโมงต่อคืน สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
อีกทั้ง “การลดเวลาหน้าจอให้เหลือน้อยที่สุดก่อนเข้านอน และการสร้างสภาพแวดล้อมการนอนหลับที่สงบเงียบ แม้ว่าเสียงรบกวนในสิ่งแวดล้อมจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อความดันโลหิตสูงในการศึกษานี้ แต่การรักษาสภาพแวดล้อมการนอนหลับที่เงียบและพักผ่อนเพียงพอก็ยังมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่โดยรวม”
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดที่หมอหมูนำเสนอ มีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้น จึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของหมอหมู และควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูล : หมอหมู วีระศักดิ์