ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการรับซื้อข้าวเปลือกนาปีที่ตลาดกลางข้าวและพืชไร่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เริ่มคึกคัก หลังเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งเกษตรกรต่างพากันนำผลผลิตข้าวเปลือกทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียวมาเข้าคิวรอขาย เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในครอบครัว โดยเฉพาะค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว และค่าปุ๋ย ทำให้ลานรับซื้อข้าวที่ตลาดกลางฯ มีรถเข้า-ออกคึกคักตลอดทั้งวัน ทั้งนี้เกษตรกรหลายคนระบุว่า ปัจจุบันราคารับซื้อข้าวเปลือกยังพอรับได้ พร้อมขอให้รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยผลักดันราคาข้าวให้สูงขึ้นอย่างน้อยอย่าต่ำกว่าตันละ 10,000 บาท

นายธนาพล ธรรมโนขจิต ผู้จัดการตลาดกลางข้าวและพืชไร่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเข้าสู่ช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งหลายรายได้เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวสดก่อนแล้วนำข้าวเปลือกมาขายบ้างแล้ว ทั้งนี้คาดว่าเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวและนำข้าวเปลือกมาขายช่วงมากๆ ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งปัจจุบันทางตลาดกลางฯ ได้รับซื้อข้าวเปลือกในราคาตามท้องตลาดทั่วไป โดยรับซื้อข้าวหอมมะลิ 105 เกี่ยวสด กิโลกรัมละ 11.6-12 บาท หรือตันละ 11,600-12,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว กข 6 ต้นเตี้ย อยู่ที่กิโลกรัมละ 8.8-9 บาท หรือตันละ 8,800–9,000 บาท ซึ่งทั้งสองชนิดความชื้นจะต้องไม่เกิน 25-30 เปอร์เซ็นต์ และขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้าวด้วย

นายธนาพล กล่าวอีกว่า อยากฝากถึงพี่น้องเกษตรกรในการปลูกข้าว นอกจากจะให้ความสำคัญเรื่องราคาแล้ว รัฐบาลและเกษตรกรเองจะต้องให้ความสำคัญและเสริมในเรื่องปริมาณของผลผลิตข้าวต่อไร่ด้วย ทำอย่างไรจะได้ผลผลิตต่อไร่ให้ได้มากที่สุด เพราะหากมีผลผลิตข้าวได้มาก และข้าวมีคุณภาพ เป็นข้าวพันธุ์ดีได้มาตรฐาน ราคาข้าวก็จะขายได้ดีด้วย อย่างไรก็ตาม อยากแนะนำเกษตรกรที่กำลังเก็บเกี่ยวข้าวสดอยู่ตอนนี้ หลังเกี่ยวเสร็จควรนำข้าวเปลือกไปตากให้แห้งไล่ความชื้นออกให้หมดก่อน และหากยังไม่จำเป็นต้องใช้เงิน ก็ให้เก็บไว้ในยุ้งฉางก่อน หรืออาจจะแบ่งขาย เพื่อรอช่วงเวลาโอกาสที่เหมาะแล้วค่อยทยอยนำมาขายในคราวต่อไป ซึ่งจะสามารถทำให้ราคาข้าวเปลือกขายได้สูงและดีกว่านี้ ไม่เหมือนการนำมาขายพร้อมๆ กันจะทำให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำไม่ดีเท่าที่ควร

ด้านนายฉัตรชัย นาทันริ อายุ 66 ปี เกษตรกรใน ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า วันนี้นำข้าวเปลือกเหนียวมาขายได้กิโลกรัมละ 9 บาท หรือตันละ 9,000 บาท ถึงแม้จะเป็นราคาที่ไม่ได้สูงมากนัก แต่ก็ยังยอมรับได้ เพราะต้องการนำเงินไปใช้จ่ายในครอบครัว โดยเฉพาะการใช้จ่ายในเรื่องค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว ค่าปุ๋ย และค่าแรงคนงาน ทั้งนี้อยากฝากไปถึงรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าให้ราคาข้าวต่ำไปมากกว่านี้ และช่วยเร่งผลักดันราคาข้าวให้สูงขึ้นอย่างน้อยอย่าต่ำกว่าตันละ 10,000 บาท เพื่อที่จะให้เกษตรกรลืมตาอ้าปาก มีกำไรมีรายได้ในการปลูกข้าว มีเงินไปใช้จ่ายในครัวเรือนด้วย