เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ จ.สงขลา มูลนิธิชีววิถี (BioThai) ครัวใบโหนด เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์คาบสมุทรสทิงพระ เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารภาคใต้ และ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน(ขสช.) ร่วมจัดเวที “ฟื้นฟูระบบนิเวศ ปกป้องความมั่นคงทางอาหาร กรณีการระบาดของปลาหมอคางดำ พื้นที่สงขลา-นครศรีธรรมราช”โดยมีนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส. กทม.พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานอนุ.กมธ.ปลาหมอคางดำ สภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมเสวนา
นายณัฐชา กล่าวว่า อานุภาพการทำลายล้างสูงของปลาหมอคางดำมี 2 อย่างสำคัญ คือ เกิดเร็วและหิวบ่อย แต่ไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติ เพราะเป็นปลาต่างถิ่นจากกานา เป็นคำตอบว่าทำไมจาก 2,000 ตัวที่เอกชนนำเข้ามาเมื่อกว่าสิบปีที่แล้วกลายเป็นหายนะในวันนี้ ซึ่งผู้ที่นำขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีการจดบันทึกไว้แต่เพียงผู้เดียวก็คือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร
“การตรวจสอบตอนนั้น กรมประมงชี้แจงต่อกรรมาธิการว่า ดูด้วยสายตาแล้วกะเอา ตัวเลขข้อมูลทั้งหมด ฟากทางบริษัทส่งมาให้ หลังจากนั้นก็ไม่มีการติดตามใดๆ จนมาพบเจอปลาสายพันธุ์นี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตำบล อำเภอ จังหวัดเดียวกันกับศูนย์เพาะเลี้ยงที่ขอนำเข้ามา นี่คือข้อเท็จจริงที่ได้มา”นายณัฐชากล่าว
นายณัฐชา กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นสถานการณ์ระบาดของปลาหมอคางดำหนักขึ้นเรื่อยมาในจ.สมุทรสงคราม ตั้งแต่การพบการระบาดครั้งแรกใน ปี 2554 เคยใช้งบประมาณกว่า 11 ล้านบาทไปรับซื้อเพื่อแก้ปัญหาแต่ด้วยความไม่จริงจังและไม่จริงใจ จึงทำให้ปัญหายังคงลุกลามและบานปลายไปถึง 19 จังหวัดในปัจจุบัน โดยเฉพาะการระบาดไปถึงชายแดนไทยกัมพูชาและมาเลเซียมีความน่ากังวลเพราะหากมีการระบาดอาจนำไปสู่การฟ้องร้องรัฐบาลไทยได้
“สิ่งที่น่ากังวลอีกเรื่องคือผลกระทบต่อระบบนิเวศที่จะทำให้สายพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นนับร้อยชนิดสูญพันธุ์เพราะโดนกิน กุ้งเคยหมด ปลาเคยหมด ปลาหัวโม่งหมด ความหลากหลายทางอาหารก็หมด ถึงวันนั้นคงได้กินแต่แกงส้มปลาหมอคางดำ เคยปลาหมอคางดำ และปลาทอดปลาหมอคางดำ จะเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารแน่นอน”นายณัฐชากล่าว
นายณัฐชา กล่าวว่า ถึงเวลาที่พี่น้องประชาชนต้องลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้อง ในเมื่อมีการระบาดเกิดขึ้นต้องตั้งคำถามกับภาครัฐว่าจะเอาอย่างไร ตนเห็นว่าสิ่งที่ต้องทำคือการเอาผิดกับต้นตอที่ทำให้เกิดการระบาดด้วยการนำเข้ามา ซึ่งขณะนี้ทางกรรมาธิการรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นรายงานไว้แล้ว หากภาครัฐจะเอาจริงเมื่อไรหยิบรายงานเป็นข้อมูลฟ้องร้องบริษัทและใครก็ตามที่เกี่ยวข้องได้ทันที แต่ถึงตอนนี้แม้ประกาศวาระแห่งชาติแล้วกลับยังไม่มีการดำเนินการใดๆ
นายณัฐชา กล่าวต่อว่า ประการต่อมา สิ่งที่ตนเรียกร้องคือการประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อให้พี่น้องรับเงินช่วยเหลือเยียวยาได้ อยากให้มองเหมือนกรณีลัมปีสกินระบาดในวัว ให้มองเหมือนโรค เมื่อปลาหมอคางดำระบาดในแหล่งน้ำ ในบ่อกุ้ง บ่อปลา ทำลายผลผลิตไปหมดทำให้เกิดความเสียหายอย่างเป็นมหันตภัยร้ายเหมือนกันก็ควรเยียวยาพี่น้องประชาชนให้เหมาะสมด้วย
นายณัฐชา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในการแลกเปลี่ยนของวงเสวนาตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดสงขลา ได้เปิดข้อมูลว่า ขณะสถานการณ์ปลาหมอคางดำในพื้นที่หนักกว่าเดิมและเลวร้ายกว่าที่คิด แต่มีความพยายามออกสื่อให้เห็นภาพว่าลดลงและสถานการณ์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนทางกับสถานการณ์จริงและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ต้องเผชิญรายวัน จึงอยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญและเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน.