สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ว่า “เดอะแลนซิต” ซึ่งเป็นวารสารทางด้านการแพทย์ของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า โรคเบาหวานส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่ทั่วโลกถึง 14% เมื่อปี 2565 เมื่อเทียบกับ 7% ในปี 2533
หากคำนวณตามการเพิ่มขึ้นของประชากรในปัจจุบัน มีผู้ป่วยโรคเบาหวานสะสมทั่วโลกมากกว่า 800 ล้านคน เทียบกับไม่ถึง 200 ล้านคน เมื่อปี 2533
ตัวเลขเหล่านี้รวมถึงโรคเบาหวานทั้ง 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ประเภทที่ 1 ซึ่งส่งผลต่อผู้ป่วยตั้งแต่อายุน้อยและรักษาได้ยากกว่า เนื่องจากการขาดอินซูลิน และประเภทที่ 2 ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุเป็นหลัก ที่สูญเสียความไวต่ออินซูลิน
อัตราการเกิดโรคเบาหวานยังคงเท่าเดิม หรือลดลงในบางประเทศที่ร่ำรวยกว่า เช่น ญี่ปุ่น, แคนาดา, ฝรั่งเศส และเดนมาร์ก ขณะที่ภาระของโรคและผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง เช่น ในปากีสถาน ซึ่งผู้หญิงเกือบ 1 ใน 3 เป็นโรคเบาหวาน เมื่อเทียบกับผู้หญิงไม่ถึง 1 ใน 10 คน ในปี 2533
นักวิจัยเน้นย้ำว่า โรคอ้วนเป็น “ตัวขับเคลื่อนสำคัญ” ของโรคเบาหวานประเภท 2 เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
นักวิจัยคาดการณ์ว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอายุมากกว่า 30 ปี 3 ใน 5 คน หรือ 445 ล้านคน ไม่ได้รับการรักษาโรคเบาหวานในปี 2565 และอินเดียเพียงประเทศเดียว มีผู้ป่วยเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนดังกล่าว ด้านภูมิภาคใต้ทะเลทรายซาฮาราของทวีปแอฟริกา มีผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานเพียง 5-10% เท่านั้นที่ได้รับการรักษา เมื่อปี 2565
แม้ประเทศกำลังพัฒนา เช่น เม็กซิโก ประสบความสำเร็จในการรักษาประชากรของตนจากโรคเบาหวาน แต่โดยรวมแล้ว ช่องว่างทั่วโลกกำลังกว้างขึ้น.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES