เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรฯ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ บัณฑิต ผบก.จร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดมาตรการควบคุมฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล
โดยนายประเสริฐ พร้อมคณะได้ตรวจเยี่ยมศูนย์สื่อสารการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีคพ. กล่าวรายงานว่า ศูนย์ ศกพ. จะทำหน้าที่เฝ้าระวัง คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นรายสัปดาห์ โดยขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว สถานการณ์ฝุ่นจะเริ่มกลับมา จึงมีการเฝ้าระวังถี่มากขึ้น วันละ 3 ช่วง เช้า กลางวัน เย็น รวมถึงคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้า 7 วัน กรณีเข้าสู่ภาวะสภาวะวิกฤติของฝุ่นละอองระดับสีแดง ศูนย์ฯ จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้สถานการณ์ฝุ่นพิษบานปลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากหน่วยงานราชการและเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการแนะนำการป้องกันตัวเองเพื่อลดผลกระทบสุขภาพจากฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลกับทางกทม. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้ นายประเสริฐ ได้แนะนำเพิ่มเติมให้กรมควบคุมมลพิษสามารถเชื่อมโยงข้อมูลไปยังแอปพลิเคชัน”ทางรัฐ” เนื่องจากมีประชาชนใช้แอปทางรัฐค่อนข้างเยอะแล้ว จึงอยากให้เพิ่มข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นเข้าไปด้วย เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะที่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ จะนำไปดำเนินการต่อ
จากนั้นได้มีการประชุม คณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ นายประเสริฐ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของการป้องกันปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผลการประชุมมี 3 เรื่องหลัก คือ 1.แนวทางการป้องกันฝุ่นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปต่อเนื่องในปี 2568 2.การสนับสนุนงบประมาณที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 3.การแต่งตั้งคณะกรรมการเข้ามาทำงาน 3 ชุด เพื่อมอนิเตอร์สถานการณ์ฝุ่นพิษ หมอกควันจากพื้นที่การเกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ป่าไม้ รวมถึงพื้นที่กทม. และปริมณฑล โดยกำหนดเป้าหมายลดจุดความร้อนให้ได้ 25% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นๆ และต้องเร่งขับเคลื่อนมาตรการทั้ง 3 เรื่องในทันที ในส่วนของพื้นที่เกษตรได้นำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์หลายเรื่อง เช่น มาตรการจูงใจไม่ให้เกษตรกรเผาในพื้นที่การเกษตร ขณะเดียวกัน คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลก็มีความเห็นตรงกันกับมาตรการไม่เผาอ้อย
ด้านนายชัชชาติ กล่าวถึงมาตรการการป้องกันฝุ่นในพื้นที่ กทม. ว่า มีการกำหนดเขตมลพิษต่ำ หรือ Low emission zone และมาตรการควบคุมรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป ที่ลงทะเบียนบัญชีสีเขียว ทั้งภาคเอกชนและบุคคล โดยปัจจุบันมีรถที่ลงทะเบียนแล้ว 1,083 คัน ซึ่งรถบรรทุกไม่ได้ลงทะเบียนห้ามเข้าใน กทม.ชั้นใน 22 พื้นที่ในช่วงที่มีค่าฝุ่นในภาวะวิกฤติ โดย กทม.ติดตั้งกล้องซีซีทีวี 259 ตัวตรวจจับและปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นมาตรการแรกที่มีการใช้ในประเทศไทย นอกจากนี้อยากเชิญชวนทุกคนที่มีรถยนต์เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง เพื่อลดการปล่อยฝุ่นพีเอ็ม 2.5 โดยจะหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อจัดทำมาตรการจูงใจในการคิดค่าบริการคนละครึ่ง โดยตั้งเป้าไว้ 500,000 คัน
“นอกจากนี้หากว่าอยู่ในระดับวิกฤติ เมื่อค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีค่ามากกว่า 75 มก./ลบ.ม. จำนวน 5 เขต และมีแนวโน้มต่อเนื่องอีก 2 วัน จะขอความร่วมมือเครือข่ายเวิร์คฟรอมโฮม โดยในปี 2567 ได้มีการเวิร์คฟรอมโฮมในวันที่ 15-16 ก.พ.2567 มีหน่วยงาน 151 แห่งเข้าร่วม เป็นจำนวน 60,279 คน ค่าเฉลี่ยปริมาณรถยนต์ที่สัญจรบนถนน/กล้อง/ชั่วโมง ลดลงร้อยละ 8 และในปี 2568 ขอเชิญทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายเวิร์คฟรอมโฮม โดยในปีนี้ตั้งเป้าให้เวิร์คฟรอมโฮม กว่า 200,000 คน” นายชัชชาติ กล่าว
ขณะที่นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ 14 กลุ่มป่าที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ว่า กระทรวงทรัพยากรฯ จะเสนอโครงการขับเคลื่อนมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 อาทิ การจัดตั้งจุดเฝ้าระวังโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จำนวน 1,585 จุด พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวัง ควบคุมไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 14 กลุ่มป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ซึ่งโครงดังกล่าวฯ จะมีการเสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 29 พ.ย.2567
ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า การจัดตั้งจุดเฝ้าระวังจะมีการจ้างชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีค่าตอบแทนประมาณเดือนละ 9,000 บาท โดยแต่ละจุดจะมีชาวบ้านเฝ้าจุดละ 3 คน ครอบคลุม 2,000 ไร่ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 พ.ค.2568 โดยให้เฝ้าตลอดฤดูไฟ นอกจากนี้ยังมีเงินอุดหนุนให้ชุมชนละ 50,000 บาท รวมกว่า 1,000 กว่าชุมชน ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้จะส่งเสริมให้สู่เป้าหมายในการลดจุดความร้อนให้ได้ 25 เปอร์เซ็นต์ตามที่คณะกรรมการฯ ตั้งเป้าไว้.