โดยเฉพาะรายของนักร้องเรียนสาว และอดีตนักร้องนักแสดงดัง ที่เป็นกระแสร้อนอยู่ในขณะนี้ เพื่อเป็นความรู้ในการติดตามข่าวสารให้เข้าใจ ในทางกฎหมายมีพฤติการณ์อย่างไร และมีบทลงโทษมากน้อยแค่ไทย “ทีมข่าวอาชญากรรม” ขอหยิบยกข้อมูลเผยแพร่ จากสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม มาให้ดูกัน

ตบทรัพย์ หรือภาษากฎหมายที่เรียกว่า รีดเอาทรัพย์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ โดยรีดเอาทรัพย์ปรากฎอยู่ใน มาตรา 338 ระบุ

ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญ หรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท

ทั้งนี้ อธิบายว่าการขู่เข็ญนั้นอาจเป็นไปทั้งเรื่องชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ชื่อเสียง ไปจนถึงเสรีภาพ ในลักษณะที่ว่าจะมีการเปิดเผยความลับ

สำหรับองค์ประกอบความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ จะเหมือนกับความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ต่างเพียงการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับนั้น ไม่ได้เป็นการขู่เข็ญในเรื่องทั่วไป

ความลับ” หมายถึง ข้อเท็จจริงที่ไม่ประจักษ์แก่คนทั่วไป และเจ้าของความลับต้องการปกปิดหรือให้รู้ในวงจำกัด ดังนั้น สิ่งใดจะเป็นความลับหรือไม่ ต้องพิจารณาตัวบุคคลเป็นสำคัญ ยกตัวอย่าง การมีภรรยาน้อย การเป็นหญิงขายบริการ หรือการหลบเลี่ยงภาษี เป็นต้น

ขณะที่การเปิดเผยความลับ จะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญ หรือบุคคลที่สามเสียหาย และผู้กระทำได้กระทำไป โดยที่ต้องการจะได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 1945/2514 จำเลยได้ข่มขู่โจทก์ว่าจะเปิดเผยความลับทางการค้าต่อพ่อค้าและท้องตลาดกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการหลบเลี่ยงภาษีของห้างหุ้นส่วน ทำให้ห้างดังกล่าวซึ่งมีโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้รับความเสียหาย จนโจทก์ยอมจะให้เงินแก่จำเลยตามที่ขู่เข็ญนั้น

จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) แล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 , 338 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28

อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่โดนขู่เข็ญไม่ได้ให้ทรัพย์สิน ผู้ที่ขู่จะเข้าข่ายความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์ ต้องรับโทษ 2 ใน 3 ของโทษฐานรีดเอาทรัพย์

ขณะที่อีกพฤติการณ์ใกล้เคียงกันอย่าง “กรรโชกทรัพย์” ตามมาตรา 337 ระบุ ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท

หากความผิดฐานกรรโชกนั้นกระทำโดย

(1) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ หรือ (2) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ ผู้นั้นต้องระวางโทษเป็นจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-140,000 บาท

การใช้กำลังประทุษร้าย คือ การกระทำต่อร่างกายหรือจิตใจ โดยใช้แรง เช่น บีบคอ ผลักล้ม ทำร้าย หรือวิธีอื่นใดที่เป็นเหตุให้อยู่ในภาวะขัดขืนไม่ได้ อาทิ วางยา ทำให้มึนเมา เป็นต้น.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน