สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ว่า จากเอกสารเผยแพร่ร่วมกันขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (ซีดีซี) ระบุว่า ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโรคหัดประมาณ 10.3 ล้านราย ในปี 2566
ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 20% จากปี 2565 ขณะที่การสร้างภูมิคุ้มกันทั่วโลก ไม่ครอบคลุมพอจะเป็นแรงผลักดันให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น
ในปี 2566 เด็กทั่วโลกเพียง 83% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเข็มแรกผ่านบริการสุขภาพทั่วไป ซึ่งเท่ากับระดับของปี 2565 แต่ลดลงจากอัตรา 86% ก่อนเกิดโรคระบาด
นอกจากนั้น การศึกษาแสดงให้เห็นว่ามีเพียง 74% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ในปีที่แล้ว
ช่องว่างของการครอบคลุมการฉีดวัคซีนทั่วโลก ทำให้ 57 ประเทศต้องประสบปัญหาการระบาดของโรคหัดครั้งใหญ่และรุนแรงในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 36 ประเทศในปีก่อนหน้า
รายงานระบุว่า ทุกภูมิภาคยกเว้นทวีปอเมริกาได้รับผลกระทบจากการระบาดครั้งใหญ่ โดยเกือบครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟริกา โดยคาดว่าโรคหัดคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 107,500 ราย เมื่อปี 2566 และส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 5 ขวบ ซึ่งลดลงจากร้อยละ 8 จากปีก่อนหน้า
ดับเบิลยูเอชโอเตือนว่า เป้าหมายระดับโลกในการกำจัดโรคหัด ให้หมดไปจากการเป็นโรคระบาด ภายในปี 2573 “อยู่ในภาวะเสี่ยง”
แม้เมื่อสิ้นปีที่แล้ว มี 82 ประเทศ ซึ่งประสบความสำเร็จหรือรักษาการกำจัดโรคหัดให้หมดไป แต่ยกเว้นในภูมิภาคแอฟริกา ที่มีเพียงอย่างน้อย 1 ประเทศ ซึ่งกำจัดโรคดังกล่าวได้สำเร็จ.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES