เดินทางใกล้ถึงบทสรุปสำหรับคดีเหมืองทองอัคราที่ยืดเยื้อมาร่วม 4 ปีโดยมีจุดเริ่มต้นมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 สั่งระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 2563

โดยให้เหตุผล คสช. ได้รับการร้องเรียนการทำเหมืองแร่ ทองคํา สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและเพื่อหยุดปัญหาขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่

ผลพวงจากการใช้อำนาจมาตรา 44 ครั้งนั้น ส่งผลให้บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่รอยต่อจังหวัดพิจิตร-เพชรบูรณ์ นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ประเทศสิงคโปร์ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)

เพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย!

ทางฝั่งบริษัทคิงส์เกตฯ เรียกร้องรัฐบาลไทยชดใช้เงิน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทเยียวยาความเสียหายที่ต้องปิดเหมือง

ทางด้านรัฐบาลสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม สู้คดีโดยตั้งแต่ปี 2562-2564 ใช้งบประมาณขั้นต่ำ 388 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2562 วงเงิน 60 ล้านบาท, ปี 2563 วงเงิน 217 ล้านบาท และปี 2564 วงเงิน 111 ล้านบาท

โดยคดีนี้เริ่มเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 และนัดฟังคำสั่งชี้ขาดวันที่ 31 ต.ค.2564 ซึ่งบทสรุปเรื่องนี้ออกได้ 3 หน้า

(1) “หน้าแรก” รัฐบาลไทยชนะคดีไม่ต้องจ่ายเงิน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามที่บริษัทคิงส์เกตฯ เรียกร้อง ถือว่าการใช้อำนาจมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจถูกมีความชอบธรรม

(2) “หน้าสอง”รัฐบาลไทยแพ้คดีเหมืองทองต้องจ่ายค่าเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งตามขั้นตอนบริษัทคิงส์เกตฯ ต้องนำคำวินิจฉัยชี้ขาดไปยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกรอบเวลา 3 ปี เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 218 และ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42

ส่วนหลัง พล.อ.ประยุทธ์ หมดอำนาจ รัฐบาลในอนาคตจะตั้งคณะกรรมการพิจารณาความผิดทางละเมิดและใช้คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากกรณีในฐานะหัวหน้า คสช.ที่ใช้อำนาจ มาตรา 44 ระงับการทำเหมืองแร่ทองคำหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

แต่อย่าลืมว่าเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2562 ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยชี้ขาดวางบรรทัดฐานตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นตำแหน่งที่มาจากการยึดอำนาจไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของหน่วยงานรัฐ และไม่มีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับการเข้ารับตำแหน่ง

ทำให้หลายฝ่ายมองว่าในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นคนตัดสินใจใช้อำนาจ มาตรา 44 และไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เท่ากับไม่สามารถนำงบประมาณที่เก็บจากภาษีประชาชนออกไปจ่ายความเสียหายคดีค่าโง่คดีเหมืองทอง

(3) “หน้าสาม” รัฐบาลไทย ยอมประนีประนอมกับบริษัทคิงส์เกตให้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำ โดยก่อนหน้านี้ช่วงปลายปี 2563 พบสัญญาณสำคัญ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) อนุมัติให้บริษัท อัคราฯ สำรวจแร่ทองคำ เนื้อที่ 44 แปลง เกือบ 4 แสนไร่ในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์

ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีค่าโง่เกิดขึ้นซ้ำซากจากหลายรัฐบาล ทั้งค่าโง่ทางด่วน, ค่าโง่คลองด่าน, ค่าโง่โฮปเวลล์ และหลายครั้งหาตัวคนผิดมาลงโทษไม่ได้

ส่วนจะมี “ค่าโง่เหมืองทอง” เพิ่มเข้ามาหรือไม่ ต้องรอลุ้นวันที่ 31 ต.ค.!