เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุมนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าพบนายกรัฐมนตรี เนื่องในพิธีมอบเงินบริจาคสมทบทุนโครงการเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่หน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรมโครงการเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดย นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นผู้รับมอบ
โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไปและคณะรัฐมนตรี ในบัญชีเงินบริจาค “สำนักงานปลัด-สำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรับบริจาคสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” เพื่อสมทบทุนในโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 15,050,000 บาท และเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 5,050,000 บาท
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีสอบถามถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ด้วยความสนใจ พร้อมย้ำให้เร่งรัดพัฒนาพัฒนาวิจัยวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด เช่นเดียวกับหลายประเทศที่มีการพัฒนาวิจัยวัคซีนโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมนอกจากงบประมาณภาครัฐที่มีอยู่ เพื่อให้การวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ประสบความสำเร็จได้โดยเร็ว พร้อมฝากกำลังใจให้ไปยังแพทย์ พยาบาล บุคลากรหน้าด่านทุกคนด้วย
จากนั้นนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีรับมอบสิ่งของบริจาค เครื่องบริโภคอุปโภค มูลค่า 2,960,604 บาท จากผู้บริหารกลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย เพื่อมอบให้แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมต่อไป โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้ยังต้องประสบปัญหาสถานการณ์อุทกภัย ประกอบกับความผันผวนของสภาพอากาศ และฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล มีปริมาณมากบ้างน้อยบ้าง รัฐบาลจึงต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำของประเทศทั้งระบบครบวงจร ตั้งแต่ตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ของประเทศ โดยสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สทนช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำที่ยังท่วมขังสู่ทะเล โดยเฉพาะการระบายน้ำจากแม่น้ำท่าจีนสู่ภาคตะวันออก อาจส่งผลให้ระดับน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติสูงขึ้นเพราะเป็นคูคลองที่มีความตื้นและเล็ก
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้ต้องมีการขุดลอกควบคู่กับการกักเก็บน้ำไว้ใช้ และมีการบริหารจัดการระบายน้ำออกอย่างเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำซึ่งมีระยะทางการสูบ 10 กิโลเมตร เพื่อเร่งดึงน้ำ จูงน้ำ และตัดตอนน้ำออกไปด้านข้างให้ได้มากที่สุดและเก็บกักน้ำไว้ในทุ่งต่าง ๆ รวมทั้งไร่นาของประชาชนโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็เร่งช่วยเหลือดูแลเยียวยาพื้นที่รองรับน้ำดังกล่าวด้วย.