เมื่อวันที่ 16 พ.ย. น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) มอบหมายให้ ศปช. ติดตามสถานการณ์น้ำของประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วที่สุด ปัจจุบันประเทศไทยเว้นภาคใต้เข้าสู่ฤดูหนาวและเป็นช่วงหน้าแล้ง แต่ยังมีฝนตกกระจาย ฝนตกหนักถึงหนักมาก จากสภาพอากาศแปรปรวน เห็นได้ชัดว่าช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา มีฝนตกหนักในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ช่วงวันที่ 16-18 พ.ย. นี้ คาดการณ์จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณพื้นที่ อ.ท่าลี่ จ.เลย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี และ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประเมินว่า จะส่งผลดีต่อการกักเก็บน้ำเพิ่มเติม บรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงหน้าแล้งได้ และไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมซ้ำอีก  

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวด้วยว่า ฝนที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา เป็นผลจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้มีฝนตกในฤดูหนาว อีกทั้งช่วง 3 วันนี้ ยังมีฝนตกหนักถึงหนักมากใน 7 อำเภอของ 7 จังหวัด ช่วยบรรเทาภัยแล้งได้ จากนั้นตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย. เป็นต้นไป ฝนบริเวณภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออกจะลดลง ส่วนฝนทางตอนบนเริ่มลดลงอย่างชัดเจน 

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวอีกว่า ระยะนี้มวลอากาศเย็นอ่อนกำลังลง แต่ยังคงปกคลุมภาคเหนือ ทำให้มีอากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังมีฝนเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะที่ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งภาคใต้ตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงไป และภาคใต้ตอนล่างที่ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ปริมาณฝนเพิ่มขึ้น จากนั้นวันที่ 19-24 พ.ย. ภาคใต้ยังมีเกณฑ์ฝนตกหนักถึงหนักมาก จึงต้องเฝ้าระวังและแจ้งเตือนอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน พร้อมเร่งบริหารจัดการน้ำไว้รองรับเพื่อป้องกับผลกระทบแก่ประชาชน  

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวว่า ส่วนพายุไต้ฝุ่น “หม่านหยี่ (MAN-YI)” คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะลูซอน ลงสู่ทะเลจีนใต้เช้าวันที่ 18 พ.ย. และเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะไหหลำ ก่อนอ่อนกำลังและสลายตัวใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม พายุนี้ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย เพราะเป็นช่วงที่มวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมทางตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.