เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่รัฐสภา นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ คนที่หนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าว ขอให้รัฐบาลทบทวนมติที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการถ่ายโอน รพ.สต. ให้กับ อบจ. เพียงหน่วยเดียว และเรียกร้องให้ถ่ายโอนให้กับท้องถิ่นประเภทเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะรับถ่ายโอนด้วย เพราะที่ผ่านมาสถานีอนามัย หรือ รพ.สต. ในปัจจุบัน ได้มีการถ่ายโอนให้กับเทศบาลและ อบต.มาแล้ว แต่มาหยุดชะงักเมื่อกระทรวงสาธารณสุขไม่ยอมถ่ายโอน รพ.สต. มาให้กับ อปท. ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นับตั้งแต่มี พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ พ.ศ. 2542 มีการถ่ายโอนให้กับ อบต. ประมาณ 86 แห่ง และให้เทศบาลบางส่วนเท่านั้น และมติคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2562 ระบุเพียงให้ รพ.สต. ถ่ายโอนให้กับ อบจ. เท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุการถ่ายโอนให้กับเทศบาลและ อบต.
นายโกวิทย์ กล่าวว่า ดังนั้น จึงเห็นว่าเป็นการผิดหลักการของ อปท.ที่ให้ท้องถิ่นระดับบน หรือ อบจ. ต้องทำภารกิจขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดและเป็นภารกิจที่ท้องถิ่นระดับล่าง หรือ อบต. และเทศบาลทำไม่ได้ ซึ่งตรงกับประกาศของคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2545 ที่ต้องการให้ อบจ.ทำภารกิจบริการสาธารณะที่เป็นภาพรวมของจังหวัดและเกินศักยภาพของท้องถิ่นอื่นๆ อย่าง อบต.และเทศบาลเพื่อให้เกิดคุณภาพในการบริการสาธารณะที่เกี่ยวกับ รพ.สต. นั้น เห็นว่า ควรเปิดโอกาสให้กับ อปท. อย่างเทศบาลและ อบต. ที่มีความพร้อมได้จัดบริการสาธารณะเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
“ที่ผ่านมาทั้ง อบต. และเทศบาล ได้จัดบริการสาธารณะด้านสุขภาพและการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับ รพ.สต. และศูนย์บริการสาธารณสุขในระดับเทศบาลได้อย่างโดดเด่น ประชาชนมีความพึงพอใจในการจัดบริการเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งผิดกับ อบจ. ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในลักษณะการให้บริการด้านสาธารณสุขและด้านสุขภาพในระดับพื้นที่โดยเฉพาะ รพ.สต. ก็ไม่เคยมีการจัดการมาก่อน และเห็นว่า อบจ. ควรทำการบริการด้านสาธารณสุขในระดับโรงพยาบาลระดับจังหวัดน่าจะเหมาะสมกว่า แม้ อบจ. จะมีการดำเนินการรับถ่ายโอน รพ.สต.มาบริหาร ก็ควรจะต้องตระหนักถึงความพร้อมและบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพไว้ด้วย จึงขอเรียกร้องให้มีการทบทวนมติดังกล่าว เพื่อให้ รพ.สต. ได้รับการถ่ายโอนมาให้กับท้องถิ่นทุกประเภทที่มีความพร้อม ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด” นายโกวิทย์ กล่าว.