เมื่อวันที่ 17 พ.ย.67  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย  ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่มีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า กรมที่ดินไม่ฟังคำพิพากษาศาลฎีกาและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองในกรณีปัญหาที่ดินเขากระโดง ว่า “อย่ามั่วครับ” 

นายอนุทิน ได้ชี้แจงว่า คำพิพากษาศาลฎีกานั้นเป็นคดีของโจทก์ซึ่งเป็นเอกชน 35 รายที่ต้องการให้ออกโฉนดโดยมีการรถไฟอยู่ในฐานะจำเลย ซึ่งศาลได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว แต่นั่นคือที่ 35 ราย ไม่ใช่ทั้งหมดที่มีกว่า 900 แปลง ส่วนคำสั่งศาลปกครองนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สั่งให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการสอบสวนมาพิจารณาเรื่องที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่ดินและกรมที่ดิน  ได้ดำเนินการตามกรอบเวลาในคำสั่งศาลแล้ว หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องของการรถไฟว่าจะพิจารณาดำเนินการอย่างไรต่อไป ย้ำว่าทุกอย่างมีกฎหมายกำกับอยู่   

“อย่าไปสรุปชุ่ยๆ กับเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อนทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ถ้าข้อเท็จจริงถูกต้องและเห็นตรงกันมันจบไปนานแล้วครับ อย่าลืมว่ามีที่อยู่เกือบพันแปลง หากยังมีการอ้างอิงแผนที่ที่ไม่ตรงกันอยู่และไม่พอใจผลการสอบสวนก็ยังมีช่องทางตามกฎหมายให้พิสูจน์กันในศาลต่อไป กรมที่ดินเขาก็มีกฎหมายกรมที่ดินที่ต้องปฏิบัติตาม ข้าราชการ ไม่มีส่วนได้เสียนะครับ เขาต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ผมกำชับไปคำเดียวว่าให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ดังนั้นต้องขอความเป็นธรรมให้คนทำงานด้วย” นายอนุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า  คิดว่ากระแสที่เกิดขึ้นเพราะเป็นประเด็นการเมืองหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า “ ท่านก็คงตอบได้เองอยู่แล้ว นักข่าวที่มาถามผมก็นักข่าวการเมืองไม่ใช่หรือ  เรื่องนี้ถ้าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคนการเมือง ก็คงจะมีองค์กรต่างๆออกมาเรียกร้องสิทธิให้ชาวบ้านเหมือนปัญหาที่ดินในที่อื่นๆไปแล้ว อย่าลืมว่าหลายครอบครัวเขาอยู่กันมาเป็นร้อยปีเขาก็ย่อมพยายามใช้ช่องทางตามกฎหมายพิสูจน์กันเต็มที่ เราอย่าไปเอาเรื่องแบบนี้มาเล่นการเมือง ผิดถูกว่ากันไปตามกฎหมายเพื่อความเป็นธรรม”

นายอนุทิน กล่าวว่า ตนขอฝากให้ไปอ่านคำชี้แจง 5 ประเด็น ของกรมที่ดินให้ละเอียดก่อน จะได้ไม่ด่วนสรุปอะไรมั่วๆกันอีก

อนึ่ง เมื่อวันที่ 9 พ.ย.67 กรมที่ดินได้มีการออกคำแถลงชี้แจงประเด็นที่ดินเขากระโดง โดยมีรายละเอียดยืนยันดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางและไม่ขัดแย้งกับคำพิพากษาศาลฎีกา พร้อมแจ้งการรถไฟให้เร่งพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ซึ่งในคำชี้แจงดังกล่าวประกอบด้วย 5 ประเด็น ดังนี้  1. ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางฯ 2. ประเด็นการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตาม มาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน 3. ประเด็นการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน 4. ประเด็นที่กรมที่ดินพิจารณายุติเรื่อง และ 5. ประเด็นการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนและกรมที่ดินขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาฎีกาและศาลอุทธรณ์หรือไม่.