ทราบผลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการประกวด Miss Universe 2024 ครั้งที่ 73 ที่ประเทศเม็กซิโก โดยจัดขึ้นในวันที่ 17 พ.ย. 2567 เวลา 08.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งตัวแทนจากประเทศไทย คือ โอปอล-สุชาตา ช่วงศรี สาวงามจากภูเก็ต วัย 21 ปี ได้แนะนำตัวอย่างมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นการเดินโชว์ตัว หรือรอบตอบคำถาม ที่หลายคนฟันธงว่า ตอบดีแบบนี้อย่างต่ำต้องจับมือเท่านั้น จนได้เสียงเชียร์อย่างล้นหลาม
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ใช้เพจเฟซบุ๊ก “คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา“ หรือ นพ.เจษฎา ทองเถาว์ แพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ จิตแพทย์ประจำ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี ได้โพสต์วิเคราะห์ “โอปอล สุชาตา” เช่นกันว่า “จากการตอบคำถามรอบ 5 คนสุดท้ายที่ว่า คุณสมบัติอะไรที่จะทำให้เป็นผู้นำประสบความสำเร็จ? ซึ่งทางโอปอล สุชาตา ช่วงศรี ตอบได้ดีมากๆ ว่า “ผู้นำมีความสำเร็จต้องมีความเห็นใจผู้อื่น ไม่ว่าคุณจะเก่งขนาดไหน ท้ายที่สุดแล้วคุณต้องมีความเห็นใจผู้อื่น เพื่อเข้าใจคนอื่น แคร์ความเป็นอยู่ของผู้คน เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ผู้นำ แต่ต้องเป็นทุกคน นั่นคือสิ่งที่จะทำให้คนเป็นหนึ่งเดียวกันได้”
โดยคำตอบของโอปอลมีคำศัพท์สำคัญ ที่ไม่คิดว่าจะได้ยินนั่นคือคำว่า “Empathy (ความเข้าอกเข้าใจ)” ซึ่งคนที่จะใช้คำนี้ได้นั้น ต้องมีความเข้าใจและคุ้นเคยกับงานด้านจิตวิทยาในระดับหนึ่ง โดย “Empathy” คือ ความสามารถในการเข้าใจ และรับรู้ถึงอารมณ์ ความคิด และมุมมองของผู้อื่น แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักตามงานวิจัย มีดังนี้
1. Cognitive Empathy คือ การเข้าใจมุมมองของผู้อื่นโดยใช้เหตุผล เช่น การเข้าใจว่าทำไมคน ๆ นั้น ถึงรู้สึกหรือแสดงพฤติกรรมแบบนั้น
2. Emotional Empathy คือ การสัมผัสหรือรู้สึกตามอารมณ์ของผู้อื่น เช่น การรู้สึกเศร้าตามเมื่อเห็นคนอื่นร้องไห้
3. Compassionate Empathy คือ ความเข้าใจและมีแรงผลักดันที่จะช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อเห็นพวกเขาต้องการการช่วยเหลือ
ดังนั้น “Empathy” ไม่ใช่แค่คุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำ แต่ยังเป็นพื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทุกมิติ ตั้งแต่ครอบครัว เพื่อน ไปจนถึงองค์กร ส่วนประโยชน์ “Empathy” มีดังนี้
1. พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น จะช่วยให้เราสามารถสื่อสารและเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ดีขึ้น ลดความขัดแย้ง และสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกว่าเดิม
2. ลดความเครียดในที่ทำงาน องค์กรที่ผู้นำมี “Empathy” จะช่วยลดความกดดันในที่ทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการ่ทำงาน และสร้างทีมที่มีความสามัคคี
3. ส่งเสริมสุขภาพจิตของทั้งผู้ให้และผู้รับ งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนแสดงให้เห็นว่า Empathy ช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียด เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในชีวิตของผู้ที่แสดง Empathy
4. สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง Empathy ช่วยให้มองเห็นความต้องการของคนในสังคม เป็นรากฐานของการช่วยเหลือและการอยู่ร่วมกัน
สำหรับด้านวิธีพัฒนา “Empathy” มีดังนี้
1. ฝึกฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening) ให้ความสนใจอย่างแท้จริงกับสิ่งที่คนอื่นพูด โดยไม่ตัดสินหรือตอบโต้ทันที
2. ควรตั้งคำถามเชิงบวก การถามว่า “คุณรู้สึกอย่างไร” หรือ “ฉันช่วยอะไรได้บ้าง” ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้แสดงความรู้สึก
3. สร้างประสบการณ์ร่วม การลองทำกิจกรรมในมุมมองของคนอื่น ช่วยเพิ่มความเข้าใจและลดอคติ
4. ฝึกการมองโลกในมุมของผู้อื่น (Perspective-Taking) ลองตั้งคำถามกับตัวเอง เช่น ถ้าฉันเป็นเขา ฉันจะรู้สึกยังไง?
5. ฝึกการแสดงออกทางอารมณ์ เช่น การกล่าวคำปลอบใจหรือให้กำลังใจเมื่อคนรอบตัวรู้สึกแย่
อย่างไรก็ตาม “การใช้ Empathy ควรถูกใช้ด้วยความสมดุล เพราะการใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่นมากเกินไปโดยไม่ดูแลตนเอง อาจนำไปสู่ภาวะเหนื่อยล้าทางอารมณ์ (emotional burnout)” นพ.เจษฎา กล่าว
ขอบคุณข้อมูล : คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา