ความเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงปิดสภา กลายเป็นอยู่ที่การเลือกตั้งท้องถิ่น โดยวันที่ 23 พ.ย.จะมีการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุรินทร์ ซึ่งเป็น “ศึกสีน้ำเงิน” ที่นายพรชัย มุ่งเจริญพร อดีตนายก ลงชิงเก้าอี้กับ นางธัญพร มุ่งเจริญพร ต้องรอดูท่าที “ครูใหญ่เนวิน” จะหนุนใคร ขณะที่มี “ตัวแทรก” ที่ว่าลงในนามพรรคเพื่อไทย คือ นางนัทธมน ศิริวัฒนวานิช อาจเข้ามาตัดคะแนน

วันที่ 24 พ.ย. สนามที่พลาดไม่ได้ เพราะสองฝ่ายเกทับกันหมดหน้าตัก คือ อุดรธานี ที่อดีตนายกฯ แม้วช่วยหาเสียงให้พรรคเพื่อไทย ช่วย “ป๊อบ-ศราวุธ เพชรพนมพร” เป็นคนแรกที่นายทักษิณ ชินวัตร ช่วยหาเสียง ขณะที่พรรคประชาชน (ปชน.) ขนทัพใหญ่ลงมาช่วย “กำนันเบี้ยว คณิศร ขุริรัง” สู้กันแบบยิบตา ชนิดงัดการเมืองแบบสาดโคลนมาใช้

พรรค ปชน. ยังเดินหน้าสู้ในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.จังหวัดอื่น “หัวหน้าเท้ง” นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ในนามพรรค ปชน. จำนวน 12 คน นำเสนอชุดนโยบาย 5 ด้าน คือ 1.น้ำประปาดื่มได้ น้ำเกษตรทั่วถึงตลอดปี  2.ขนส่งมวลชน ถนนทั่วถึง รถเมล์ตรงเวลา 3.สาธารณสุขบริการทั่วถึง อยู่ไหนก็ใกล้หมอ  4.อบจ.โปร่งใส ทำงานไวรับใช้ประชาชน 5.โรงเรียนคุณภาพ สอนทักษะอนาคตเรียนไปได้ใช้จริง

“คนที่ลงนายก อบจ.ในนามพรรค ทุกคนมุ่งมั่น ตั้งใจ และภาคภูมิใจ มีประสบการณ์การทำงานท้องถิ่น มีความรู้ ความสามารถ และความพร้อมที่จะเข้าไปทำงานให้กับประชาชนได้ทันที เรามีเจตนารมณ์อาสาลงรับสมัครเลือกตั้ง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการเมืองในระดับประเทศ ปชน.ผลักดันเรื่องกระจายอำนาจ ครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่เฉพาะโครงสร้าง แต่เป็นในระดับระดับฐานราก ชุดนโยบาย 5 ด้านนั้น เป็นนโยบายที่ว่าผู้สมัครศึกษามานาน มั่นใจตอบสนองความต้องการคนในพื้นที่” หัวหน้าเท้ง กล่าว

สำหรับรายชื่อว่าที่ผู้สมัครที่เปิดตัวในวันนี้ ประกอบด้วย รายชื่อว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. ของพรรคประชาชน จำนวน 12 คน ประกอบด้วย 1. นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ 2. นายวีระเดช ภู่พิสิฐ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ลำพูน 3. นายสุพจน์ สุอริยพงษ์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.มุกดาหาร 4. นายอุรุยศ เอียสกุล ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.หนองคาย 5. นายชลธี นุ่มหนู ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ตราด 6. นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ภูเก็ต 7.นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี 8. นายสุทธิโชค ทองชุมนุม ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.พังงา 9.นายนิรันดร์ จินดานาค ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สงขลา 10.น.ส.นันทิยา ลิขิตอำนวยชัย ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรสงคราม 11. นายนพดล สมยานนทนากุล ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ 12. นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.นนทบุรี

ทั้งนี้ บางจังหวัดเป็นการเมืองบ้านใหญ่ อาทิ สุราษฎร์ธานี ซึ่งตระกูลกาญจนะ ค่อนข้างมีอิทธิพล หรือ อบจ.สมุทรปราการ ก็มีบ้านใหญ่กลุ่มปากน้ำ ตระกูลอัศวเหม ส่วนที่สงขลา ก็มีตระกูลในพรรคประชาธิปัตย์ที่มีบทบาทมากในพื้นที่ อย่างตระกูลบุญญามณี หรือตระกูลขาวทอง ส่วนจังหวัดที่คาดว่าจะแข่งเดือดคือภูเก็ต ที่พรรคก้าวไกลเดิมสามารถกวาด สส.ภาคใต้ได้ แต่เป็นพื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยต้องการแย่งชิง นายเรวัต อารีรอบ นายก อบจ.คนปัจจุบันก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งเชียงใหม่ก็น่าสนใจเพราะเป็นจังหวัดบ้านเกิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ

หัวหน้าเท้งตั้งเป้าหมายว่า อย่างน้อยแต่ละภูมิภาคต้องชนะ อบจ.หนึ่งแห่ง ส่วนการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ลงพื้นที่ และเจ้าตัวมั่นใจว่ากระแสดี มั่นใจอยู่ว่าพรรค ปชน.มีโอกาสสูงที่จะได้รับการเลือกตั้ง เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสแกนนำพรรคเพื่อไทยโจมตีการหาเสียงของพรรค ปชน. นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ไม่ใช่การชกใต้เข็มขัด แต่ตนมองว่าเราต้องออกมาใช้สิทธิ เนื่องจากก่อนหน้านี้ เราถูกพาดพิง ถือว่าเป็นการชี้แจงกลับ ในสนามเลือกตั้ง ทุกคนที่ถูกพาดพิงก็ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ

นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯ อดีต สส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทยหลายสมัย กล่าวถึงการที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ปราศรัยที่อุดรธานี เรื่องเป้าหมายพรรคเพื่อไทยมี สส. 200 คน ว่า เป็นเป้าหมายพรรค ซึ่งเท่าที่คุยตอนแรกคุยถึง 220 คนด้วยซ้ำไปในการเลือกตั้งครั้งหน้า

“ในการหาเสียง อยากให้พรรคประชาชน (ปชน.) พูดถึงการเสนอนโยบาย ทำการเมืองสร้างสรรค์ เอาพอหอมปากหอมคอ และขอฝากไปยังคนที่เห็นต่างว่า ความคิดเห็นที่ต่างกันเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าปั่นกระแสทำลายกัน อย่าให้ถึงขนาดเอาทุกตัวอักษรมาเล่ากัน หรือเอาทุกคำพูดมาเล่ากัน เพราะมันจะไม่จบสิ้น” นายสมคิด กล่าว 

อีกเรื่องหนึ่งที่ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร กล่าวไว้ก่อนเดินทางไปประชุมเอเปค ว่าจะเร่งตั้งกรรมการเจรจาร่วมด้านเทคนิค (JTC) เพื่อเจรจากับกัมพูชาเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป หรือ MOU 44 “รองอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่า จะนำเรื่องตั้งกรรมการเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 19 พ.ย.หรือไม่ และตัวเองไม่อยู่ในวันดังกล่าว เพราะติดประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนพลัสที่ลาว

“ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการพูดคุยกันเมื่อไร คิดว่าไม่น่าจะทันเข้าที่ประชุม ครม. 19 พ.ย. ซึ่งจะพยายามทำให้เร็วที่สุด เรื่องตัวกรรมการ กระทรวงการต่างประเทศต้องทำการบ้านและมาพูดคุยกัน ซึ่งยังไม่ทราบว่ามีใครบ้าง MOU คือข้อตกลงจะพูดคุย ซึ่งเรื่องชายแดนการเจรจาเป็นวิธีที่ดีที่สุด ยืนยันว่าไม่มีอะไรให้ยกเลิก MOU 44 เมื่อต่างคนต่างอ้างสิทธิแต่ละฝ่าย ก็ต้องให้มาคุยกันตาม MOU ย้ำว่า มันไม่ได้ระบุว่า พื้นที่เป็นของใคร แต่บอกว่าเรื่องยังไม่จบ ต้องเจรจากัน และนำเข้าสภาของทั้งสองประเทศ ซึ่งต้องยึดกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ มีหลายคนยังไม่เข้าใจ MOU 44 ต้องกลับไปอ่านให้ละเอียด”

เมื่อถามต่อว่าเรื่องนี้จะไม่ทำให้ประชาชนแคลงใจเหมือนกรณีเขาพระวิหารใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เราถึงต้องรีบทำ ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหาใหญ่ในระยะยาว คิดว่าไม่มีอะไรต้องแคลงใจ และการที่เราเดินทางไปในพื้นที่ ก็แสดงให้เห็นว่าเรายังเป็นเจ้าของดินแดนอยู่ หน่วยราชการก็ยังอยู่

ส่วนสีสันอื่นๆ นายสานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์สำรวจความคิดเห็น นอร์ทกรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธาร เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 67 กลุ่มตัวอย่าง 1,500 ราย จากทั่วทุกภูมิภาค เมื่อถามว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันมีทิศทางเป็นอย่างไร กลุ่มตัวอย่างระบุว่า มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าเดิม 58.7% เหมือนเดิม 24.5% และมีแนวโน้มที่จะแย่กว่าเดิม 16.8% ขณะที่มาตรการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจหนี้ครัวเรือนที่เหมาะสมที่สุด กลุ่มตัวอย่างเห็นว่า มาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 เฟสสอง 24.8% การขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 16% ตรึงราคาสินค้า 10.7% ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 10.4% พักชำระหนี้ 9.3% ลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค 9.1% ลด/ตรึงราคาพลังงาน 8.8% ลดราคาค่าบัตรโดยสารรถไฟฟ้า 8.5% เมื่อถามถึงการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลชุดนี้ดำเนินการได้ดีสุด

กลุ่มตัวอย่างระบุว่า นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว 38.6% นโยบายส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ 32.4% นโยบายส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ 16.7% นโยบายแสวงหาตลาดต่างประเทศใหม่ 10.8% และ อื่นๆ 2.5%

“ทีมข่าวการเมือง”