น.ส.ธีรณี อจลากุล ผู้อํานวยการ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ บีดีไอ เปิดเผยว่า  บีดีไอ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ความร่วมมือโครงการจัดทำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ (เฮลท์ ลิงก์)  กับ สภาเภสัชกรรม  เพื่อเชื่อมโยงบริการระบบยืนยันตัวตนเภสัชกร กับระบบเฮลท์ ลิงก์ ให้เภสัชกรสามารถระบุ พิสูจน์ และยืนยันตัวตนในการเข้าถึงประวัติการรักษาพยาบาล สำหรับการให้บริการการรักษาพยาบาล รวมถึงการพัฒนาระบบยืนยันตัวตนผ่านระบบ เอ-เมด  โดยเชื่อมต่อฐานข้อมูลของสภาเภสัชกรรม และความร่วมมืออื่น ๆ ในการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มศักยภาพและบริการอื่นใดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

“บีดีไอได้ทำงานร่วมกับสภาวิชาชีพต่าง ๆ ในการกำหนด ตรวจสอบ ยืนยันตัวตนผู้ให้บริการ และการกำหนดข้อมูลที่สามารถเปิดดูประวัติการรักษาให้สอดคล้องกับการให้บริการ และมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อให้การบริการครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มสอดรับกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับ กทม. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยนวัตกรรมที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ผ่านระบบเฮลท์ ลิงก์ มากกว่า 1,500 แห่งทั่วกรุง โดยมีร้านยาคุณภาพที่ให้บริการประชาชนสามารถรับบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย  16 กลุ่มอาการ แล้วกว่า 455 แห่ง และขยายการเชื่อมโยงไปยังร้านยาคุณภาพที่ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ภายใต้การกำกับดูแลของ สปสช. อีกกว่า 408 แห่ง ในพื้นที่ กทม.ด้วย”

นายกิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือกับบีดีไอ  จะช่วยให้เภสัชกรสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างครบถ้วน เช่น ประวัติการแพ้ยา ข้อมูลการใช้ยาในปัจจุบัน และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทำให้เภสัชกรสามารถให้คำแนะนำในการใช้ยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากยา และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล การร่วมมือกันในการพัฒนาระบบเฮลท์ ลิงก์เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยให้ก้าวไปสู่มาตรฐานสากล

“สภาเภสัชกรรมมีการจัดการดูแลระบบ A-MED ให้เภสัชกรในแต่ละร้านยาคุณภาพที่เข้าร่วมโครงการ Health Link สามารถเปิดใช้งานระบบ Health Link ได้ โดยรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อระบุตัวตนของเภสัชกร และมาตรฐานความปลอดภัยตามที่ BDI กำหนด ทั้งหมดนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกการให้บริการประชาชนในหน่วยบริการปฐมภูมิ และช่วยให้เภสัชกรที่ประจำร้านยาคุณภาพสามารถเข้าถึงประวัติการรักษา เพื่อประสิทธิภาพในการให้บริการและการรักษาอย่างไร้รอยต่อที่มีคุณภาพต่อไป” นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว

สำหรับโครงการ Health Link คือ แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างสถานพยาบาลทั่วประเทศ ช่วยให้แพทย์สามารถดูประวัติการรักษาได้ทันที สะดวก ง่าย ปลอดภัย พร้อมมีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลด้วยกลไกการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้น โดยยืนยันตัวตนของประชาชน และแพทย์ การเข้ารหัสข้อมูลและระหว่างจัดส่งข้อมูล รวมถึงมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจสมัคร Health Link ฟรีผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” หรือ “ThaID”