เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า นักพฤกษศาสตร์สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานฯ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ชาฤๅษี (Gesneriaceae) Dr. David Middleton จากสหราชอาณาจักร ผู้รับผิดชอบการศึกษาพวงศ์ชาฤๅษีสำหรับโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก คำหยาดศรีสิรินธร (Chayamaritia sirindhorniana D. J. Middleton, Tetsana & Suddee) ซึ่งเป็นพืชหายากควรค่าแห่งการอนุรักษ์ ประชากรมีขนาดเล็กในพื้นที่จำเพาะ

โดย คำหยาดศรีสิรินธร ถูกค้นพบจากการสำรวจทางพฤกษศาสตร์ของทีมนักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อ-ภูกระแต บริเวณเขาหินทรายในเขต อ.หนองหิน จ.เลย จากการตรวจสอบของทีมผู้วิจัยพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงนำความขอพระราชทานกราบบังคมทูลทรงทราบฝ่าละอองพระบาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานนามชื่อพฤกษศาสตร์โดยใช้คำระบุชนิดว่า “sirindhorniana” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติที่พระองค์ท่านทรงให้การสนับสนุนโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) มาอย่างยาวนาน

โดยในเอกสารตีพิมพ์พืชชนิดใหม่นี้ ได้ระบุไว้คือ Etymology.— The specific epithet is given in honour of Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn for her dedication to, and encouragement of, the Flora of Thailand Project ชื่อไทยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “คำหยาดศรีสิรินธร” 

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยไทยที่ร่วมตีพิมพ์ประกอบด้วย น.ส.นัยนา เทศนา นายพาโชค พูดจา นางอรทัย เกิดแก้ว และนายสมราน สุดดี หน่วยงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช พืชสกุล Chayamaritia เป็นสกุลพืชหายากพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชนิดต้นแบบสำหรับการตีพิมพ์พืชสกุลนี้ในครั้งแรกคือ คำหยาดสมิตินันทน์ [Chayamaritia smitinandii (B. L. Burtt) D. J. Middleton] ซึ่งพบในประเทศไทย ทั่วโลกพบพืชสกุลนี้ทั้งหมด 4 ชนิด รวมชนิดใหม่นี้ โดยพบในเวียดนาม 1 ชนิด ในลาว 1 ชนิด และในไทย 2 ชนิด พืชชนิดใหม่นี้ได้รับการตีพิมพ์ตามกฎเกณฑ์ทางพฤกษศาสตร์ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 52(2) หน้าที่ 102–104 ปี พ.ศ. 2567 ตัวอย่างต้นแบบ Tetsana, Puudjaa, Kerdkaew, Hemrat, Jirakorn & Phu Kho-Phu Kratae Wildlife Sanctuary staff 2775 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ 

DOI: https://doi.org/10.20531/tfb.2024.52.2.14


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง  50 ซม. ลำต้นสั้น แนบติดอยู่กับก้อนหินที่ขึ้นอยู่ ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกรอบต้น ใบรูปไข่ รูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปใบหอกกลับแกมรูปรี ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ มีขนครุย แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนหนาแน่น ก้านใบยาวได้ถึง 12 ซม. มีขนหนาแน่น ช่อดอกแบบช่อกระจุก (cyme) แต่ละช่อมีดอก 2-8 ดอก แกนช่อดอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ยาว 0.8-1 ซม. มีขนหนาแน่น ยกเว้นส่วนปลายสุดเกลี้ยง กลีบดอกยาว 5-6 ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก ด้านนอกสีม่วงอ่อน ด้านในสีม่วงอมแดงเข้ม ด้านล่างมีเส้นมีเหลืองเข้ม 2 เส้น ผลรูปขอบขนาน ยาว 2.5-3 ซม. มีขนหนาแน่น 

พบขึ้นเป็นกลุ่มบนหน้าผาหินทรายที่มีร่มเงาและความชื้นสูงในป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 600 ม. พบในพื้นที่ อ.หนองหิน จ.เลย ออกดอกและเป็นผลเดือนส.ค.-พ.ย.

เอกสารอ้างอิง:Middleton, D. J., Tetsana, N., Puudjaa, P., Kerdkaew, O. & Suddee, S. 2024. A new species of Chayamaritia (Gesneriaceae) from Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 52(2): 102–104.