วันอังคารที่ 19 พ.ย. “นายกฯอิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานประชุม ครม.หลังกลับจากประชุมเอเปกที่เปรู นายกฯ แถลงภายหลังประชุมว่า สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)แถลงตัวเลข จีดีพี ไตรมาส 3 ขยับตัวเพิ่มมากขึ้น 3% ที่ประเมินไว้รวม 9 เดือนเศรษฐกิจของไทยขยายตัว 2.3%และคาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวได้ 2.6% ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจไทยเศรษฐกิจที่โตขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากการลงทุนของทางภาครัฐและการท่องเที่ยวแต่เรื่องการลงทุนจากภาคเอกชนยังต้องเพิ่มขึ้นอีก ตอนนี้ได้สั่งการขอให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และ สศช.รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหามาตรการช่วยเรื่องการลงทุนของภาคเอกชนให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
“หลังจากที่ไปประชุมเอเปกมาได้คุยกับผู้นำหลายประเทศก็มีสัญญาณดีมากๆเพราะทุกคนอยากลงทุนกับประเทศไทย ได้พูดคุยกับซีอีโอด้านธุรกิจจากหลายประเทศต่างก็คิดว่าประเทศไทยมีโอกาสอย่างมาก ส่วนการแถลงผลงานรัฐบาล 100 วัน ตั้งใจไว้ว่าจะแถลงในเดือน ธ.ค.”นายกฯกล่าว
ทั้งนี้ มีข่าวว่า “อดีตนายกฯแม้ว” นายทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สื่อนอกว่า “อดีตนายกฯปู” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะกลับมาเล่นน้ำสงกรานต์ที่ไทยปี พ.ศ. 2568 ผู้สื่อข่าวก็ไปถามหลานสาวอาปู ได้คำตอบเพียงว่า“ท่านทักษิณให้สัมภาษณ์ ท่านยิ่งลักษณ์ไม่ได้ประสานมา ถ้ามีคือโทรหาหลาน” แล้วชี้ตัวเอง
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้นยังไม่ได้รับการประสานมาจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่เมื่อมีหมายขังที่ออกโดยศาล ก็ต้องทำตามกฎหมายของกรมราชทัณฑ์ปัจจุบันยกระดับมากขึ้น หากเป็นผู้หญิง ก็ต้องอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง ขอยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย
“สมัยที่นายทักษิณกลับมา ผมยังไม่ได้เป็น รมว.ยุติธรรม แต่สำหรับการกลับมาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายราชทัณฑ์ ไม่มีโมเดลทักษิณอะไรทั้งสิ้น ทุกอย่างปฏิบัติตามกฎหมาย” รมว.ยุติธรรม กล่าว
ประเด็นที่น่าสนใจในการประชุม ครม. คือ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า วันที่ 19 พ.ย. เป็นวันแรกที่นายกฯมีข้อสั่งการ และมีการตำหนิในที่ประชุม ครม.เนื่องจากการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในการดำเนินการออกกฎหมายลำดับรอง ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องเร่งเสนอข้อกฎหมายต่างๆ เข้ามายัง ครม.จำนวนมาก แต่มีส่วนราชการจำนวนไม่น้อยที่ยังส่งร่างกฎหมายเข้ามากระชั้นชิด ทำให้ ครม.ไม่สามารถพิจารณาได้อย่างรอบคอบ ทั้งที่มีกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบหลายฉบับที่จำเป็นต้องใช้มติ ครม. ก็ไม่สามารถดำเนินการได้
“นายกฯ จึงกล่าวตำหนิหน่วยงานต่างๆ ที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดปัญหา ทั้งที่บางเรื่อง หน่วยงานราชการนั้นๆมีเวลาเตรียมการมาแล้วหลายปีกำชับให้หน่วยงานราชการทั้งหมดให้ความสนใจในการวางแผนดำเนินการเรื่องกฎหมายลำดับรองและเรื่องอื่นๆที่มีการกำหนดเวลา เพื่อให้ ครม.มีเวลาเหมาะสมในการพิจารณาร่างกฎหมายด้วยความรอบคอบและไม่ให้ประชาชนเสียประโยชน์ ต้องมาเร่งรัดเสนออย่างเช่นกรณีนี้อีก”นายจิรายุ กล่าว
ส่วนความเคลื่อนไหวทางการเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้งนายก อบจ. สนามที่น่าจับตาคือสุรินทร์ ซึ่งนายพรชัย มุ่งเจริญพร และนางธัญพร มุ่งเจริญพร ลงแข่งกันโดยพรรคภูมิใจไทยไม่ได้ส่ง แต่เป็นคนใกล้ชิดกับพรรค ทำให้ “เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ปวดหัว พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่ง อบจ.สุรินทร์ รอลุ้นผล 23 พ.ย.
ส่วนที่อุดรธานี ที่หาเสียงฟาดเดือดระหว่างเพื่อไทยกับประชาชน ( ปชน.) รอลุ้นวันที่ 24 พ.ย.อุดรธานี นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผลเลือกตั้งอบจ.มาวัดการเมืองระดับชาติไม่ได้ การเมืองใหญ่กับการเมืองท้องถิ่นออกจากกันท้องถิ่นจากที่ลงไปเราจะสังเกตได้ว่าการเลือกของประชาชนจะไม่เกี่ยวกับพรรคส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับตัวบุคคลที่มาดูแลประชาชนมากกว่า
ส่วนที่นายทักษิณในฐานะผู้ช่วยหาเสียงถูกครหาว่าครอบงำพรรคนั้น นายสรวงศ์บอกว่า น่าจะเลิกพูดเรื่องครอบงำกันได้แล้ว การที่นายทักษิณให้ข้อสังเกต ให้คำแนะนำหรือนโยบายต่างๆก็ชัดเจนว่าเป็นเพราะนายกฯ ไปปรึกษา นายทักษิณจึงเล่าให้ฟัง การครอบงำเป็นวาทกรรมที่ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรเลยไม่อย่างนั้นสิ่งที่พรรคการเมืองอื่นหรือคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้วออกมาพูดมันก็คือการครอบงำหมด
วันที่ 20 พ.ย.จะมีการประชุม กมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ( ฉบับที่..)พ.ศ….ที่รัฐสภา เรื่องนี้ นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ในฐานะ กมธ.กล่าวว่าการประชุมนัดนี้จะนัดลงมติตัดสินความเห็นต่างระหว่าง สส. และ สว. เรื่องเกณฑ์การผ่านประชามติแก้รัฐธรรมนูญ จุดยืนสว.วินาทีนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง สนับสนุนเกณฑ์ผ่านประชามติ ด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น คือมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ
ขณะที่จุดยืน กมธ.ฝั่ง สส. ยังต้องการใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวคือ เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิส่วนทางเลือกที่สามคือ เสียงข้างมากชั้นครึ่ง ( ผู้ออกเสียงจะต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง ต้องสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่ออกความเห็นในเรื่องที่จะทำประชามติ)ของนายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ.นั้น เป็นข้อเสนอในมุมเดียว
“หากนัดโหวต เชื่อว่า กมธ.ฝั่ง สส.และ สว.จะยืนยันจุดยืนตัวเอง ไม่มีทางเลือกที่สามสว.จะเข้าประชุมพร้อมเพรียง 14 คน หลังจากพิจารณาชั้นกมธ.เสร็จแล้ว จะให้แต่ละสภาลงมติจะเห็นชอบกับกมธ.ร่วมหรือไม่ เชื่อว่า สส.และสว.จะยืนยันจุดยืนตัวเอง 2 สภาเห็นไม่ตรงกันต้องพักร่างกฎหมายไว้ 180 วัน ระหว่างพักร่างกฎหมายไม่จำเป็นต้องพักการออกเสียงประชามติใดๆหากรัฐบาลจะเดินหน้าออกเสียงประชามติแก้รัฐธรรมนูญช่วงเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น เดือนก.พ.2568 ทำได้โดยใช้กฎหมายประชามติฉบับเดิม”นายพิสิษฐ์ กล่าว
ปิดท้ายด้วยเรื่องเขากระโดง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทยให้สัมภาษณ์ถึงข้อพิพาทพื้นที่เขากระโดงระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมที่ดินซึ่งกระทรวงคมนาคมยืนยันสิทธิตามกฎหมาย จะฟ้องร้องคดีผู้ครอบครองภายใน 1 เดือน ว่า ทั้ง 2 หน่วยงานตอบเหมือนกันว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมาย กรมที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวข้องโดยคำพิพากษาของศาลฎีกา ผูกพันเฉพาะคู่กรณี คือ รฟท.และประชาชน 35 ราย ส่วนคำพิพากษาศาลปกครองกรมที่ดินดำเนินการแล้วตาม พ.ร.บ.ที่ดิน ม. 61 คณะกรรมการของกรมที่ดินมีมติไม่ให้เพิกถอน เพราะหลักฐานของ รฟท.ไม่เพียงพอ เป็นสิทธิของ รฟท.ที่จะอุทธรณ์
เรื่องนี้ทุกฝ่ายต่างปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ได้ช่วยเหลือใคร ส่วนกรณีถ้าจะเปลี่ยนให้เช่าที่ ถ้ารฟท.บอกเป็นเจ้าของสิทธิ์ก็ดำเนินการไป กรมที่ดินมีหน้าที่ว่า ตรงไหนที่มีเอกสารชัดเจนว่าเป็นของรัฐ ก็เพิกถอนทันที ถ้ารฟท.เป็นเจ้าของก็ต้องมีเอกสารสิทธิมาชี้แจง
“ขณะนี้ เขาฟ้องร้องกันแค่ 35 ราย ที่ดินทั้งหมดมี 900 กว่าแปลง เอาให้ชัดก็ฟ้องร้องกันทีละแปลงเลยอย่าเอาการเมืองมาผูกกับเรื่องนี้ มีตระกูลการเมืองถือครองที่ตรงนี้อยู่ 200 กว่าไร่ จาก 5,000 ไร่ ก็ต้องไปพิสูจน์สิทธิเอา ถ้าพิสูจน์สิทธิไปถึงสนามฟุตบอลและสนามแข่งรถก็ไม่มีปัญหา ถ้าเป็นที่หลวงก็ต้องยึดหมด ผมไม่เข้าไปอุ้มมีแต่อยากให้จบ ๆ ไป ได้สอบถามไปยังอธิบดีกรมที่ดินแล้ว เรื่องนี้คงจบโดยเร็วไม่ได้ นอกจากจะฟ้องทีละคน”นายอนุทิน
กล่าว
“ทีมข่าวการเมือง”