เมื่อวันที่ 25 ต.ค. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขฝุ่น PM2.5 โดยจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยในช่วงปลายเดือน ต.ค.2564-ก.พ.2565 คาดว่าในช่วงประมาณปลายเดือน ต.ค.-ต้นเดือน ธ.ค.2564 ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นระยะๆ โดยจะมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า จากนั้นถึงเดือน ม.ค.2565 ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่เสริมลงมาโดยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ ส่วนในเดือน ก.พ.2565 ลักษณะอากาศอากาศจะแปรปรวน เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง ดังนั้นในตอนที่ความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุมมีกำลังอ่อนหรือเริ่มถอยกลับ จะส่งผลให้ลมอ่อน สภาพอากาศนิ่ง การกระจายตัวของฝุ่นละอองไม่ดีและมีโอกาสสะสมในพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2565 ซึ่งอาจส่งผลให้ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในช่วงเวลาดังกล่าว

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า สำหรับรายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 วันที่ 25 ต.ค.นี้ สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมากทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยตรวจวัดได้อยู่ในช่วง 5-27 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และจากข้อมูลศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ คาดการณ์ว่าตั้งแต่วันนี้ถึงปลายเดือน ต.ค.2564 สถานการณ์โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีเนื่องจากเพดานการลอยตัวอากาศและความเร็วลมมีแนวโน้มสูงขึ้น และจะมีลมตะวันออกเฉียงเหนือช่วยทำให้การระบายในพื้นที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามช่วงวันที่ 24-26 ต.ค.2564 ในช่วงเวลากลางคืนไปถึงเช้ามืดมีโอกาสเกิดสภาวะอากาศนิ่งและเกิดการสะสมของฝุ่นละอองได้

นายอรรถพล กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมการรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง โดยได้ยกร่างแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ปี 2565 ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงานที่ต้องเร่งรัดและเน้นย้ำการปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหา ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด กระทรวงทรัพยากรฯ เป็นประธาน เห็นชอบในหลักการร่างแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565 ภายใต้แนวคิด 1 สื่อสาร 5 ป้องกัน 3 เผชิญเหตุ ซึ่งจะนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลที่มักพบมีแนวโน้มสูงขึ้นและเกินมาตรฐานเป็นครั้งคราวในช่วงปลายปี ซึ่งสาเหตุหลักมาจากยานพาหนะกว่า 50% โดยเฉพาะรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล นอกจากมาตรการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ศกพ.ได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนส่งและประชาชนมีส่วนร่วมในการลดมลพิษภายใต้โครงการ “คลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5” ซึ่งปีนี้เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 โดยเป็นความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ผ่านกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า โดยมีเป้าหมายให้รถยนต์ใช้งานที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป มารับบริการตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามศูนย์บริการรถยนต์แต่ละยี่ห้อในราคาลดพิเศษ ทั้งนี้จากการทดสอบกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในห้องปฏิบัติการทดสอบมลพิษจากยานพาหนะ พบว่า การบำรุงรักษาแบบบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) จะช่วยลดการระบายควันดำลงได้เฉลี่ย 25%

นายอรรถพล กล่าวด้วยว่า ศกพ.ยังได้ขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ 2 แห่ง ให้จำหน่ายในช่วงวิกฤต PM2.5 ในราคาปกติ คือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะจำหน่ายผ่านสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะจำหน่ายผ่านสถานีบริการน้ำมันบางจากในพื้นที่กทม. ระหว่างเดือน ธ.ค.2564-ก.พ.2565 โดยได้มีการดำเนินการมาแล้วในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ทั้งนี้จากการทดสอบการใช้น้ำมันดีเซลที่มีคุณลักษณะเทียบเท่า EURO 5 หรือมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm จะสามารถลดการเกิดฝุ่น PM2.5 ได้ประมาณ 24% เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซลที่มีคุณลักษณะเทียบเท่า EURO 4 หรือมีกำมะถันไม่เกิน 50 ppm โดยรถยนต์เก่าจะสามารถเติมน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำได้โดยจะไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของเครื่องยนต์.