จากกรณีเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากหลังจากสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงยกเลิกกิจกรรมขบวน “อัญเชิญพระเกี้ยว” ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ โดยให้เหตุผลว่า เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

ยกเลิกอัญเชิญพระเกี้ยวบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
จากใจ ‘อดีตผู้อัญเชิญพระเกี้ยว’ ย้ำทุกค่านิยมย่อมมีวันหมดสมัย!

ประวัติ “พระเกี้ยว” และความสำคัญ
เว็บไซต์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า “พระเกี้ยว” เป็นสัญลักษณ์ของชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้

“พระเกี้ยว” เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ และเป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้เพราะ พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น คือ “จุฬาลงกรณ์” ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับศีรษะ หรือ จุลมงกุฎ เจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ จะทรงใช้พระเกี้ยวยอดประดับพระเมาลี (ผมจุก) ในพระราชพิธีโสกันต์

ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความสำนึกในความเป็นสถาบันการศึกษาที่กำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวไทยในการแสดงความเคารพต่อสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์เสมอมา ด้วยเหตุนี้จึงใช้พระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎ เป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย พร้อมกับปลูกฝังประเพณีอันดีงามแก่บุคลากรและนิสิตทุกยุคสมัยตลอดมา ให้มีความเคารพและเทิดทูนพระบรมราชสัญลักษณ์อันสูงส่งที่ได้รับพระราชทานมาเป็นตราประจำมหาวิทยาลัย

การอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณี
ในการเปิดงาน “ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมสาสตร์” นั้น จะมีขบวนอัญเชิญสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยทั้งสองสถาบัน โดยทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีตราธรรมจักร เป็นสัญลักษณ์

ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การอัญเชิญตราพระเกี้ยวเปรียบเสมือนการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย เข้ามาในงาน และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาและเหล่ากองเชียร์ ดังประโยคที่ดังก้องอยู่ในใจชาวจุฬาฯ ทุกคนว่า “สีชมพูจักอยู่ในกายเจ้า พระเกี้ยวเกล้าจักอยู่เป็นคู่ขวัญ”

ข้อมูลจาก เว็บไซต์ของ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความเกี่ยวกับอัญเชิญพระเกี้ยว ระบุว่า ขบวนพาเหรดในพิธีเปิด งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ทุกปีนั้น เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างมากในทุกๆ ครั้ง ส่วนหนึ่งในขบวนที่สามารถดึงดูดผู้ชมได้ก็คือ ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว และตราธรรมจักร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยทั้งสองสถาบัน ซึ่งในแต่ละปีแต่ละสถาบันจะจัดขบวนอัญเชิญได้สวยงามไม่แพ้กัน

สำหรับการอัญเชิญตราสัญลักษณ์เข้ามาในขบวนพาเหรดของงานฟุตบอลประเพณีฯ ที่เก่าแก่ที่สุด จากหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2507 มีผู้อัญเชิญเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และองค์พระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่าองค์พระเกี้ยวจำลองที่ใช้ในปัจจุบัน

การอัญเชิญตราสัญลักษณ์เข้ามาในสนามแข่งขันนั้น เหมือนเป็นการเปิดงาน ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการอัญเชิญตราพระเกี้ยว ทางธรรมศาสตร์จะต้องมีตราธรรมจักร ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวเปรียบดังทุกสิ่งที่เป็นสถานศึกษาแห่งนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องอัญเชิญเข้ามาในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

ในความจริงแล้ว นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกคน มีฐานะเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว เนื่องจากเป็นผู้ใช้พระเกี้ยวเป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันการศึกษา แต่ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ไม่สามารถให้นิสิตจุฬาฯ ทุกคนขึ้นอัญเชิญพระเกี้ยวได้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคัดเลือกนิสิตจุฬาฯ ที่มีความเหมาะสม

การคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยว
ในสมัยก่อนจำนวนผู้อัญเชิญพระเกี้ยวมีตั้งแต่เป็นนิสิตผู้หญิงคนเดียว นิสิต 2 คน นิสิตหญิง-ชาย 2 คู่ มาจนถึงในปัจจุบันที่เป็นนิสิตหญิง-ชาย เพียงคู่เดียว บางปีคัดเลือกจากตัวแทนของคณะ มีการสัมภาษณ์จากอาจารย์ ซึ่งก็รู้ได้ในวันนั้นว่าใครได้เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ในบางปีมีการคัดเลือกจาก “นางนพมาศ” ซึ่งในสมัยก่อนเรียกว่า “ดาวจุฬาฯ” จนภายหลังการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวก็ได้มีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบัน

ในนิสิตหญิง-ชาย เพียงคู่เดียว ที่จะได้รับหน้าที่ “อัญเชิญพระเกี้ยว” ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งรูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ การวางตัว กิริยา มารยาท ผลการเรียน ตลอดจนมีความรู้เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีความรู้รอบเหมาะสมกับการเป็นตัวแทนนิสิตจุฬาฯ ที่ถือได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว
ก่อนหน้านี้มีผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว อาทิ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ทรงเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 62

นอกจากนี้ ยังมีหลายคนที่เป็นคนดังในแวดวงต่างๆ อาทิ จิระนันท์ พิตรปรีชา จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 32, แอฟ-ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 55, แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 66, ฟาง-ธนันต์ธรญ์ นีระสิงห์ จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 68..

ขอบคุณภาพและที่มาจาก TU Photo, CU100, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, SGCU Camera : รวมภาพกิจกรรมในรั้วจามจุรี, หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Taewaew_natapohn