รายงานข่าวจาก สำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 26/2567 เมื่อวันที่ 20 พ.ย.  มีวาระต่อเนื่อง เรื่องอนุมัติกรอบวงเงินการจัดทำระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (เซลล์ บรอดคาสต์) เฉพาะเงินสนับสนุนระบบ เซลล์ บรอดคาสต์ เซ็นเตอร์ (ซีบีซี)  และค่าบำรุงรักษาระบบ จำนวน 3 ปี ให้กับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ภายหลังเสนอวงเงินค่าใช้จ่ายใหม่ที่ 261 ล้านบาท ลดลงจากข้อเสนอเดิม ซึ่งอยู่ที่ 278 ล้านบาท และได้มีการพิจารณาเพิ่มเติมในวงเงินเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ฟิกซ์ คอสท์ ของ เอ็นที ซึ่งเสนอมาอยู่ที่ 179 ล้านบาท เปรียบเทียบแล้วใกล้เคียงกับทางเอไอเอส ซึ่งอยู่ที่ 185 ล้านบาท และทรู  อยู่ที่ 186 ล้านบาท แต่เอ็นที จะมีจำนวนสถานีฐานและจำนวนผู้ใช้บริการน้อยกว่ามาก อีกทั้ง สัดส่วนค่าฟิกซ์ คอสท์ ของ เอ็นที คิดเป็น 94% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่น อยู่ที่ 72%

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีการเสนอให้เอ็นทีใช้โครงข่ายของผู้ให้บริการรายอื่น เช่น เอไอเอส หรือ ทรู เพื่อลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานแทนการลงทุนเอง รวมถึงเสนอให้สำนักงาน กสทช.ไปศึกษาตัวอย่างแนวทางการจัดการฟิกซ์ คอสท์ และ โรมมิ่ง ของต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเลขที่เสนอนั้นสมเหตุสมผล  และนำรายละเอียดมาเสนออีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 28 พ.ย. 67

ด้าน แหล่งข่าวจาก สำนักงาน กสทช. ระบุว่า  เอ็นที สามารถใช้ระบบโรมมิ่ง เซลล์ บรอดคาสต์บนคลื่นความถี่ที่มีอยู่ พร้อมแชร์การใช้งานโครงข่ายที่รองรับ แอคทีฟ แชร์ริ่ง ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนระบบใหม่ เพราะเอ็นที มีคลื่นความถี่ย่าน 700  เมกะเฮิรตซ์ อยู่แล้ว และยังได้แชร์โครงข่ายและใช้โรมมิ่งผ่านเอไอเอส ซึ่งช่วยให้บริการลูกค้าได้บางส่วน ดังนั้นทางเอ็นที สามารถเช่าการใช้งานโครงข่าย โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง ซึ่งช่วยลดภาระงบประมาณลงได้อย่างมีนัยสำคัญ และหากมีค่าใช้จ่ายในโรมมิ่ง เซลล์ บรอดคาสต์ กับผู้ให้บริการรายอื่นๆ  ก็สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายกับทางกองทุน ยูโซ่ ได้เช่นกัน  แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาด้านการบริหาร และการกำหนดเงื่อนไขระหว่างทั้งสองหน่วยงาน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้งบประมาณของรัฐ