ต่อมาเวลา 16.00 น. วันที่ 20 พ.ย. 67 ที่รัฐสภา ภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา ได้ประชุมเพื่อหาข้อยุติในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2564 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาเห็นแย้งกัน โดยวุฒิสภาเสนอให้แก้ไขเป็นหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น นำมาสู่การตั้ง กมธ.ร่วมกัน โดยมีการเชิญตัวแทน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาให้ข้อมูล กมธ. เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทำประชามติผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

จากนั้นนายกฤช เอื้อวงศ์ สว. พร้อมด้วย นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. ในฐานะโฆษก กมธ. แถลงผลการประชุม กมธ. ว่า ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 13 ต่อ 9 งดออกเสียง 3 จากผู้เข้าประชุมทั้งหมด 25 คน ให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญตามที่ สว. แก้ไขมาคือ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีคะแนนเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง หลังจากนี้จะนำร่างกฎหมายกลับเข้าสู่แต่ละสภา เพื่อพิจารณาจะเห็นชอบตามมติ กมธ.ร่วมหรือไม่ หากสภาใดไม่เห็นชอบ สามารถลงมติยับยั้งร่างกฎหมายได้ และเสนอกลับเข้ามาใหม่ได้ ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องถูกพักไว้ 180 วัน เชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎรคงไม่เห็นด้วยกับการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น จะยับยั้งแน่ คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกพักไว้ 180 วัน ทั้งนี้ กมธ. จะประชุมครั้งต่อไปเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ เพื่อรับรองรายงานการประชุม จากนั้นวันที่ 6 ธ.ค. จะส่งร่างกฎหมายกลับไปให้แต่ละสภา คาดว่าวันที่ 16 ธ.ค. จะนำเข้าสู่วาระการประชุมวุฒิสภา และวันที่ 18 ธ.ค. จะเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. กล่าวว่า สำหรับเหตุผลที่ กมธ. ในซีกของ สว. คงไว้ซึ่งเสียงข้างมาก 2 ชั้น เพราะเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นจะต้องมีประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ จึงอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมการออกเสียงประชามติ เพื่อประโยชน์จะตกเป็นของประชาชนโดยตรง

นายพิศิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. กล่าวว่า ส่วนการเชิญตัวแทน กกต. และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มาชี้แจงต่อ กมธ. ถึงความพร้อมการทำประชามติผ่านทางไปรษณีย์นั้น ตัวแทนทางไปรษณีย์ยืนยันมีความพร้อมการทำประชามติผ่านทางไปรษณีย์ ว่าสามารถทำได้ วิธีการจะให้ประชาชนมายืนยันตัวตนที่ไปรษณีย์ในเขตนั้นๆ จากนั้นก็จะมีการลงมติที่ไปรษณีย์ ดูแล้วเป็นช่องทางที่สามารถป้องกันการลงคะแนนแทนกันได้ เพราะต้องใช้บัตรประชาชนมายืนยันตัวตนที่ไปรษณีย์ก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายการทำประชามติผ่านไปรษณีย์ทราบว่า อยู่ที่ประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท ดูแล้วไม่ได้ถูก แต่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาทำงานต่างภูมิลำเนา ไม่ต้องเดินทางกลับไปลงคะแนนที่ภูมิลำเนาของตัวเอง ขณะที่ตัวแทน กกต. ระบุว่า ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า จะมีการทำประชามติผ่านทางไปรษณีย์หรือไม่ แค่บอกว่าจะรับไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้งว่าจะดำเนินการหรือไม่ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเสียงข้างมาก 13 เสียง ที่ลงมติให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในการทำประชามติ เป็น กมธ. ฝั่ง สว. ทั้งหมด ส่วนเสียงข้างน้อย 9 เสียง เป็น กมธ. ฝั่ง สส. ขณะที่เสียงงดออกเสียง 3 คะแนนนั้น เป็นของประธาน กมธ. ในที่ประชุม และ สส.ภูมิใจไทย 2 คน คือ นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง.