หนึ่งในคดีการเมืองที่น่าจับตานับตั้งแต่วันแรก คือกรณีที่ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ทนายความอิสระ ใช้สิทธิตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2567 ให้วินิจฉัยสั่งการ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และ “พรรคเพื่อไทย” ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากพฤติกรรม 6 กรณี  

ได้แก่ 1.กรณีที่ “ทักษิณ” รักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ แทนการนอนในเรือนจำ 2.การให้ พรรคเพื่อไทย ดำเนินการที่ส่อว่าอาจเอื้อประโยชน์แก่ประเทศกัมพูชา จากกรณีอ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล 3.กรณีที่ “เพื่อไทย” ร่วมกับ พรรคประชาชน เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4.การเปิดบ้านจันทร์ส่องหล้า นัดหารือเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ 5.การให้ขับ พรรคพลังประชารัฐ พ้นจากการร่วมรัฐบาล 6.การให้นำสิ่งที่ “ทักษิณ” แสดงวิสัยทัศน์เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 ไปทำเป็นนโยบายรัฐบาล

ขณะที่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดหมายประชุมร่วมกันในวันศุกร์ที่ 22 พ.ย. นี้ เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องหรือไม่ แต่ระหว่างนี้ก็มีข่าวสะพัดว่า “ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ” อัยการสูงสุด (อสส.) ลงนามเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2567 ตอบถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหนังสือสอบถาม อสส. ว่าได้ดำเนินการตามคำร้องของ “ทนายธีรยุทธ” แล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด

อีกทั้ง อสส. ได้ส่งบันทึกการสอบถ้อยคำพยานของฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องด้วย แต่ไม่มีถ้อยคำของ “ทักษิณ” ที่สำคัญ อสส. มีคำสั่งไม่รับดำเนินการ ตามที่ร้องขอ เพราะเห็นว่าผู้ถูกร้องทั้งสองไม่มีพฤติการณ์ตามคำร้อง ไม่เข้าหลักเกณฑ์การล้มล้างการปกครองฯ

แต่ผู้ร้องยังเชื่อมั่นว่าจะไม่มีผลใดๆ และมั่นใจในเนื้อหาคำร้องว่าชัดเจน มีพยานหลักฐานและเอกสารเพียงพอ

เมื่อเป็นเช่นนี้ยิ่งชวนให้น่าติดตามคดีดังกล่าว เพราะ “ทนายธีรยุทธ” สร้างชื่อไว้จากการยื่นคำร้องให้ ยุบพรรคก้าวไกล จึงต้องมาลุ้นผลยกแรกว่าที่ประชุมตุลาการศาลฯ ทั้ง 9 คนว่า จะรับหรือไม่รับคำร้อง ไว้พิจารณา

ถ้าผลปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ก็ต้องดูเหตุผลประกอบด้วย ซึ่งขณะนี้มีข่าวว่าศาลฯ อาจยึดถือตามเหตุผลของ อสส. และคำอธิบายของ อสส. อาจส่งผลต่อคำร้องอื่นๆ ของนักร้องอีกหลายราย แต่ที่แน่ๆ ผู้ถูกร้องทั้งสองและกองเชียร์คงตีปีกด้วยความโล่งใจ รวมถึงรัฐบาลของ “นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร” เดินหน้าต่อไปแบบสวยๆ

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง จะกลายเป็นชนักปักหลัง “ทักษิณ-เพื่อไทย” ให้ลดความอหังการ และอาจกระทบเครดิตของค่ายสีแดงที่กำลังกรำศึกสนามเลือกตั้งในหลายพื้นที่ รวมถึงอาจทำให้องคาพยพ “รัฐบาลแพทองธาร” ตกที่นั่งลำบาก

ขณะเดียวกัน เมื่อศาลฯ รับเรื่องแล้ว ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ก่อนจะเริ่มกระบวนการพิจารณาคดี โดยศาลฯ อาจใช้เวลาพิจารณานานหลายเดือน ซึ่งระหว่างทางนั้น มีเหตุการณ์สำคัญ คือการสรรหาผู้ทำหน้าที่แทน 2 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อยู่ครบวาระ คือ “ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์-ปัญญา อุดชาชน” และต้องเลือก ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ด้วย ซึ่งถูกมองว่าอาจมีผลต่อการตัดสินคดีดังกล่าว

เรียกได้ว่าต้องจับตาทุกย่างก้าวในคดีนี้ เพราะไม่ว่าคำเฉลยจะเป็นอย่างไร ล้วนมีผลต่อชีพจรทางการเมือง