เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา มีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมติวุฒิสภา ว่า มติดังกล่าวจะทำให้ต้องยึดตามวุฒิสภา จึงจะนำร่างกฎหมายนี้เข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งมีแนวโน้มที่วุฒิสภาคงเห็นตามมติคณะกรรมาธิการร่วมฯ ส่วนสภาผู้แทนราษฎรคงจะยืนตามความเห็นเดิม คือไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมาธิการร่วมฯ ซึ่งถ้าแปลความตามรัฐธรรมนูญ คือร่างกฎหมายประชามติฉบับนี้ต้องถูกยับยั้งไว้ คือต้องรอ 180 วัน แล้วหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ และถ้าขณะนั้น สภาผู้แทนราษฎรยืนตามความเห็นเดิม ให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา ตามรัฐธรรมนูญให้ถือสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่าสามารถเอาร่างที่สภาผู้แทนฯ เคยมีมติไว้ นำขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยสำหรับการประกาศใช้เป็นกฎหมาย
เมื่อถามว่า หากต้องรอ 180 วัน ท้ายที่สุดจะสามารถทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทันหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า หากทำประชามติ 3 ครั้ง การทำรัฐธรรมนูญใหม่จะเสร็จไม่ทันแน่นอน เพราะระยะเวลาของรัฐบาลเหลือ 2 ปี แต่หากย่นย่อการทำประชามติเหลือ 2 ครั้ง ก็อาจทัน อีกทั้ง เรื่องการทำประชามติ 2 ครั้ง ความเห็นของสภาผู้แทนฯ และพรรคการเมืองทั้งหลายยังไม่ลงรอยกันนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นของฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นว่าจะต้องมีการทำประชามติครั้งแรกโดยที่ยังไม่มีร่าง ซึ่งมีความหมายว่า เป็นการทำประชามติ 3 ครั้ง ตนจึงอยากจะขอพูดคุยเรื่องนี้กับผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ทั้งพรรคการเมืองและฝ่ายสภา พูดง่าย ๆ ว่าถ้าทำ 2 ครั้งได้ ก็อาจจะทัน
นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากใครได้ดูรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด จะพบว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 137 วรรคท้าย ระบุว่าหากเป็นกฎหมายการเงิน ระยะเวลา 180 วัน ให้ลดลงเหลือ 10 วัน ซึ่งตนมองว่าร่างกฎหมายการทำประชามติเป็นกฎหมายการเงิน เพราะต้องใช้งบประมาณในการทำประชามติ ตรงนี้จึงเป็นข้อกฎหมายที่ฝากไว้ให้คิดกัน ซึ่งพวกเราจะนำเรื่องนี้มาคิดด้วยและนำเสนอคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ว่า ไม่จำเป็นต้องรอ 180 วัน
เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้งใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ท้ายที่สุดก็ต้องเข้าสู่การหารือของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) โดยตนจะคุยกับนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาลว่ามีประเด็นข้อกฎหมายตรงนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เราต้องดันไป ซึ่งอย่างน้อยที่สุดขอให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะถือว่าเราได้ทำหน้าที่ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เมื่อถามต่อว่าในส่วนของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลควรจะหารือกันอีกรอบหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ในขณะนี้ก็คงต้องผ่านวิปรัฐบาลก่อน แล้ววิปรัฐบาลจะคงไปหารือกับแกนนำรัฐบาลต่อไป
เมื่อถามอีกมีโอกาสที่จะหารือกับฝ่ายค้านด้วยหรือไม่ เพราะบางพรรคก็อยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านมีความตั้งใจที่อยากจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นอะไรที่เป็นไปได้ ตนเชื่อว่าฝ่ายค้านจะให้ความร่วมมือ ได้ทำงานร่วมกันมา ตนก็ได้เห็นความตั้งใจของเขาที่อยากจะทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจเช่นกัน ซึ่งได้เขียนไว้ในนโยบายของรัฐบาลว่า จะเร่งรัดจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยเร็วที่สุด เมื่อถามย้ำว่าประเด็นที่ออกมาเช่นนี้ เกี่ยวข้องกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายชูศักดิ์หัวเราะก่อนตอบว่า ไม่เอา ไม่อยากทะเลาะกับใคร