วันที่ 22 พ.ย. มีประเด็นร้อนที่เกี่ยวข้อง “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ 2 เรื่อง ซึ่งหลายคนจับตามอง หากบทสรุปออกมาในทางลบ อาจมีผลกระทบรัฐบาลภายใต้การนำของ “นายกฯอิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ พรรคเพื่อไทย( พท. ) ในฐานแกนนำรัฐบาล โดยที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (รธน. ) มีวาระการพิจารณา คำร้องของ “นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร“ทนายความอิสระยื่นขอขอให้ศาลรธน.สั่งให้” นายทักษิณ “ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคพท. ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรธน. 2560 มาตรา 49
ภายหลัง “ นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ” อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ทำหนังสือตอบกลับส่งถึงศาลรธน. เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีบันทึกสอบถ้อยคำทั้งพยานฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องไปยังศาลรธน.แล้ว ยังมีความเห็นแจ้งไปยังศาลรธน.เห็นว่าเรื่องนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง อสส.มีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ เป็นไปตามความเห็นของคณะทำงานที่เสนอมายังอสส.ก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องรอดูผลการประชุมตุลาการศาล รธน.ว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวหรือไม่
ถ้าหากศาลรธน.ระบุคำร้อง ก็จะมีผลต่อความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณและความเชื่อมั่นกับ “พรรคพท. “ ในฐานะ แกนนำรัฐบาล เพราะต้องรอจนกว่าศาลรธน. จะมีคำวินิจฉัย เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองเกิดขึ้น คงต้องอรดูบทสรุปจะเป็นอย่างไร
ขณะที่กรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ ที่มี นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) เป็นประธาน กมธ.ได้มีหนังสือนัดประชุม กมธ.เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อเนื่องเป็นครั้งที่สอง ถึงกรณีการตรวจสอบกรณีที่กรมราชทัณฑ์ ให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ กับการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งกมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐฯในวันที่ 22 พ.ย.เวลา 09.30 น.พร้อมกำหนดการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลต่อ กมธ.ได้แก่ นายทักษิณ , พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม , อธิบดีกรมราชทัณฑ์ , พล.ต.ท.โสภณรัชจ์ สิงหจารุ ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นพ.ใหญ่ รพ.ตำรวจ , นายวัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ , น.ส.รวมทิพย์ สุภานันท์ นพ.ชำนาญพิเศษ รพ.ราชทัณฑ์ , นายวิชัย วงศ์ชนะภัย ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
ด้าน “ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ”ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับการชี้แจงต่อคณะกมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐ ฯ กรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยนายสมบูรณ์ กล่าวว่ามีคณะกมธ.ฯ2ชุด ตรวจสอบเรื่องนี้มายังกระทรวงยุติธรรม ประกอบด้วย คณะกมธ.ตำรวจ ซึ่งผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ยกคณะไปชี้แจงแล้ว ต่อมาคณะกมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐฯมีหนังสือให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ไปชี้แจงในวันที่ 22 พ.ย. 67 เชิญให้ รมว.ยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อเราพิจารณาอำนาจหน้าที่กรอบกฎหมาย ตั้งแต่รธน. ข้อบังคับกฎหมายการประชุมของสภาฯมีความเห็นว่า ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกมธ.ฯชุดนี้จะมาตรวจสอบ
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า จึงมีหนังสือลงวันที่ 20 พ.ย.67 ไปยังประธานสภาฯและคณะกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯถึงข้อกังวลในข้อกฎหมาย โดยเฉพาะรธน. 2560 ข้อบังคับการประชุมสภาฯ และระเบียบการประชุมของสภาฯ โดยเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของคณะกมธ.ฯชุดนี้ ทำเรื่องนี้ซ้ำซ้อนกับคณะกมธ.ชุดอื่นของสภาฯ และองค์อิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ตรวจสอบอยู่ เราปิดบังไม่ได้ ส่วนกรณีที่นายรังสิมันต์ ระบุว่าเอกสารอะไรจากกรมราชทัณฑ์ไป มักไม่ค่อยได้รับการตอบกลับนั้น นายสมบูรณ์ ระบุว่า เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่แต่ กมธ. สามารถสอบถามระดับผู้บังคับบัญชาอีกครั้งได้ ส่วนที่มองว่าอาจเอื้อประโยชน์ นายทักษิณ หรือไม่นั้นมองว่าเรื่องนี้จบไปแล้ว จากนี้เป็นเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริง.
แต่ “นายปิยรัฐ จงเทพ” สส.กทม. พรรคปชป. ในฐานะโฆษกคณะกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯแถลงกรณีที่กระทรวงยุติธรรม ออกมากล่าวหา กมธ.ความมั่นคงฯ ไม่มีอำนาจตรวจสอบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กรณีพักรักษาตัวชั้น 14ว่า กมธ. ได้ทำหนังสือเชิญกรมราชทัณฑ์มาแล้ว 1 รอบ แต่กลับไปแถลงข่าวก่อน เมื่อวันที่ 7 พ.ย.67 กรมราชทัณฑ์ก็มาชี้แจงตอบได้บ้าง ไม่ได้บ้าง และฝ่าย ผอ.กองกฎหมายของกรมราชทัณฑ์ก็เสนอต่อ กมธ.เองว่าขอให้ กมธ.มีมติเป็นคำสั่ง ให้กรมราชทัณฑ์ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ ซึ่งยังแย้งไปว่าถ้าเมื่อไหร่ ทาง กมธ.มีมติเรียกเอกสารจากกรมราชทัณฑ์มา แล้วท่านไม่มา ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ ก็จะมีความผิดทางวินัยในฐานะข้าราชการ ถือเป็นเรื่องใหญ่
ยืนยันว่า กมธ.สามารถศึกษาเรื่องการปฏิรูปได้ เพราะการทำงานของ กมธ.ครอบคลุมเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐและการปฏิรูปประเทศ ก็สามารถทำงานครอบจักรวาลได้ แค่คำว่าปฏิรูปประเทศอย่างเดียว ก็สามารถทำได้หลายเรื่อง เช่น การปฏิรูปตำรวจก็เป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม แล้วทำไมกรมราชทัณฑ์จะไม่ใช่หนึ่งในกระบวนการยุติธรรมที่เราปฏิรูปไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเราจะปฏิรูปถ้าเราไม่แสวงหาข้อเท็จจริง ไม่ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วเราจะปฏิรูปได้อย่างไร
“ผมยืนยันกับพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ว่าเรื่องนี้ จะไม่นำมาเป็นเรื่องเล่นงานหรือหาเสียงทางการเมืองแต่อย่างใด มาชี้แจงข้อเท็จจริง แล้วนำข้อเท็จจริงนี้มาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เราได้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำคือเรื่องตำรวจแล้ว เรากำลังไปกระบวนการศาล กระบวนการราชทัณฑ์ต่อไป แค่นำเรื่องนี้เข้ามาศึกษาเท่านั้นเอง” นายปิยรัฐ กล่าว
งานนี้ต้องรอดูการประเมินการประลองกำลังระหว่าง”กระทรวงยุติธรรม “ กับ “กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ “ ในข้อกฎหมายและ อำนาจของกมธ. จะสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ ซึ่งจะมีผลในการทำงานของกระบวนการนิติบัญญัติในสภาฯ
ส่วนการแก้เกมกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญู (รธน. ) อาจมีความล่าช้า หลัง คณะกมธ. ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. การออกเสียงประชามติว่า ได้ข้อสรุปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต. ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย(พท. )ให้สัมภาษณ์กรณีที่ประชุมคณะกมธ. ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. การออกเสียงประชามติว่า ได้ข้อสรุปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น คาดว่าสภาผู้แทนราษฎร คงจะยืนตามความเห็นเดิม ซึ่งแปลว่าไม่เห็นด้วยกับมติกมธ.ร่วม ให้ใช้มติของสภาฯ ซึ่งกฎหมายนี้ต้องถูกยับยั้งไว้ ต้องรอ 180 วัน ก็สามารถนำเอาร่างที่สภาฯ เคยมีมติไว้แล้ว นำขึ้นกราบบังคมทูลเกล้า ฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยได้เลย ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ท้ายที่สุดจะทำรธน.ฉบับใหม่ได้ทันหรือไม่ หากทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งไม่ทันแน่ เพราะระยะเวลาของรัฐบาลเหลือเพียงแค่ 2 ปี แต่หากทำประชามติเหลือ 2 ครั้ง ก็อาจจะทัน จึงอยากจะขอพูดคุยเรื่องนี้กับผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ทั้งพรรคการเมืองและฝ่ายสภา ฯ
นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากใครได้ดูรธน.อย่างละเอียดจะพบว่า รธน.มาตรา 137 วรรคท้าย ระบุว่าหากเป็นกฎหมายการเงิน ระยะเวลา 180 วัน ให้ลดลงเหลือ 10 วัน ซึ่งมองว่ากฎหมายประชามติเป็นกฎหมายการเงิน เพราะต้องใช้งบประมาณในการทำประชามติ ซึ่งจะนำเรื่องนี้เสนอคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ว่า ไม่จำเป็นต้องรอ 180 วัน จะคุยกับนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล ในส่วนเรื่อง 180 วันอาจไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้อย่างน้อยที่สุดขอให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรธน.(สสร.) ให้แล้วเสร็จ เพื่อจัดทำรธน.ฉบับใหม่ เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล คงต้องผ่านวิปรัฐบาลก่อน แล้ววิปรัฐบาลคงไปหารือ กับแกนนำรัฐบาลต่อไป เมื่อถามอีกมีโอกาสที่จะหารือกับฝ่ายค้านด้วยหรือไม่ เพราะบางพรรคก็อยากเห็นการแก้ไขรธน. นายชูศักดิ์ กล่าวว่าอะไรที่เป็นไปได้ เชื่อว่าฝ่ายค้านจะให้ความร่วมมือ ซึ่งรัฐบาลเองก็มีความตั้งใจเช่นกัน
ต้องรอดูการแก้เกมครั้งนี้ จะทำให้กระบวนการแก้ไขรธน. เดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ เพราะถือเป็นนโยบายรัฐบาล แต่คงต้องรอดูท่าทีพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ” พรรคภูมิใจไทย(ภท. )” ที่เห็นว่าควรทำประชามติn2 ชั้น หรือ Double majority
ด้าน “นายอนุทิน ชาญวีรกุล” รอง นายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภท. กล่าวถึงกรณีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ระบุหากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ. ประชามติ ตามกมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา ทำให้ต้องยืดระยะเวลา 180 วันและอาจเข้าเกณฑ์กฎหมายการเงินที่ต้องพักไว้ 10 วันว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตีความ แต่ในส่วนของพรรคภท.ได้แสดงจุดยืน ว่าควรจะเป็น การทำประชามติ 2 ชั้น หรือ Double majority ซึ่งจุดยืนตรงนี้เราก็เห็นความจำเป็นอยู่ เพราะพอมีประเด็นเรื่องเกาะกูด การเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ต่างๆ เราจึงต้องใช้ความระมัดระวัง ในการแก้ไขให้รอบคอบ เนื่องจากหากมีการลงมติไปแล้ว จะได้ไม่มีใครพูดว่าผิดพลาดในภายหลัง หรือทำไม่รอบคอบ
“นี่เป็นเจตนารมณ์ของพรรคภท. อะไรที่จะทำประชามติต้องเป็นการทำประชามติจริงๆ และต้องมีส่วนร่วมจริงๆเพื่อตัดสินใจ เรื่องสำคัญและเกี่ยวข้องกับประเทศของเขา ไม่ใช่ประชามติ ของคนแค่มาออกเสียง“ นายอนุทินกล่าว
เมื่อถามว่าหากนำผลกมธ.ร่วมประชามติมาโหวตในสภาล่าง ก็จะยืนยันกรณีเสียงข้างมาก 2 ชั้นใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎระเบียบ เราแสดงเจตนารมณ์ของเราแล้ว ใครเห็นด้วยกับเราก็โหวตตาม ใครไม่เห็นด้วยก็โหวตไม่เหมือนกัน ผลออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องเคารพ ขอยืนยันว่าตรงนี้ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้ง ทุกคนมีสิทธิที่จะมีความเห็น ที่ไม่สอดคล้องกันได้ ใช้หลักการประชาธิปไตยในการตัดสิน สิ่งใดที่จะมาบังคับใช้เมื่อถามว่าการแก้ไขรธน.จะเสร็จภายในรัฐบาลนี้ตามนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างมีเงื่อนเวลา มีขั้นตอน ถ้าแก้ได้ก็แก้ ถ้าแก้ไม่ทันก็ต้องรอสภาฯชุดหน้า
เรื่องกระบวนการแก้ไขรธน. ยังเป็นประเด็นร้อน เพราะนอกจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ภท.ยังมีมุมที่แตกต่างกัน นอกจากนี้วุฒิสภาฯที่มีสมาชิกวุฒิสภา (สว. ) ซึ่งมี”สว.สายสีน้ำเงิน” มีบทบาทชี้นำอยู่ เพราะมีอยู่ประมาณ 150 คนยึดครอง “พท.”จะฝ่าปมร้อนไปได้อย่างไร
“ทีมข่าวการเมือง”