เคล็ดลับดีๆ ของคนอยากซื้อประกันสุขภาพ แต่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ที่สำคัญเลยคือไม่รู้ว่าจะเลือกซื้ออย่างไร จะเลือกซื้อผ่านตัวแทน หรือออนไลน์ แบบไหนดีกว่ากัน และการคุ้มครองเป็นอย่างไร
ช่องทางซื้อประกันสุขภาพ 2 ช่องทาง ได้แก่
- ซื้อประกันสุขภาพผ่านตัวแทนประกัน
หากคุณอยากได้คำแนะนำชัดเจนของข้อมูลแบบประกันที่เหมาะสม เช่น อยากรู้ข้อมูลของประกันสุขภาพเด็กให้ลูกเล็ก หรือขอรายละเอียดประกันสุขภาพเหมาจ่ายให้ตัวเอง หรือครอบครัว รวมถึงสนใจประกันสุขภาพอื่น ๆ แต่ไม่รู้ว่า จะซื้ออย่างไร ราคาเท่าไร การเลือกซื้อประกันสุขภาพผ่านตัวแทนประกันก็ช่วยตอบโจทย์ และที่น่าสนใจคือตัวแทนประกันชีวิตเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอบรม และสอบใบประกอบวิชาชีพมา ทำให้สามารถจัดรูปแบบของแบบประกันชีวิต และสุขภาพ ให้เหมาะสมตามความต้องการของเราได้ - เลือกซื้อประกันสุขภาพออนไลน์
จุดน่าสนใจของการซื้อประกันสุขภาพออนไลน์ คือ สะดวกสบาย สามารถเปรียบเทียบแผนประกันที่สนใจผ่านเว็บไซต์ได้ด้วยตัวเอง เพื่อความคุ้มค่าที่มากขึ้น ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยี หรือชื่นชอบการชอปปิงออนไลน์ โดยเราสามารถเลือกซื้อประกันสุขภาพออนไลน์ได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว สามารถเลือกได้อิสระตามความต้องการ และสามารถชำระเงินค่าเบี้ยได้เลยบนระบบออนไลน์
เคล็ดลับวิธีเลือกประกันสุขภาพที่ควรรู้
- แนะนำว่าต้องมีประกันสุขภาพ ติดตัวไว้อุ่นใจกว่า เพราะนอกจากประกันสุขภาพ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแล้ว ยังสามารถลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ดังนั้นหากใครกำลังมองหาประกันสุขภาพให้กับตัวเอง ต้องศึกษารายละเอียดอะไรบ้าง เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ซื้อ และมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนเพื่อสุขภาพของเราเอง
คุ้มครองครอบคลุมแค่ไหน
- อย่างแรกเริ่มต้นดูก่อนว่า กรมธรรม์ที่สนใจนั้น สามารถคุ้มครองค่ารักษาผู้ป่วยนอก (OPD) ค่ารักษาผู้ป่วยใน (IPD) รวมถึงครอบคลุมโรคร้าย หรือเสียชีวิตและผลประโยชน์อื่น ๆ หรือ มีเอกสารแนบท้าย เช่น ทันตกรรม คลอดบุตร เป็นต้น
- ส่วนวงเงินคุ้มครองที่แนะนำ ควรมองไว้ในช่วงหลักล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล และสามารถรักษาในโรงพยาบาลตามที่ต้องการได้ หรือเลือกความคุ้มครองสุขภาพแบบเหมาจ่ายที่ไม่จำกัดวงเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจะครอบคลุมค่ารักษา ทั้งอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ตลอดไปจนถึงโรคร้ายเเรงนั่นเอง
เบี้ยประกัน เลือกที่จ่ายไหว
- แนะนำให้เลือกซื้อเบี้ยประกันสุขภาพ ไม่ควรเกิน 10-15% ของรายได้รวมทั้งปี หากซื้อในช่วงอายุน้อยราคาจะไม่แพง เพราะร่างกายยังแข็งแรง สุขภาพดี โอกาสเกิดโรคน้อยกว่าหากซื้อในช่วงที่อายุเยอะโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ก็มีมาก และหากเคยมีประวัติการรักษามาแล้ว อาจจะไม่ได้รับความคุ้มครอง
ประเมินความเสี่ยง
- แต่ละคนมีความเสี่ยงโรคที่แตกต่างกัน เช่น ความเสี่ยงจากกรรมพันธุ์ อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือ เสี่ยงจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ชอบกินอาหารปิ้งย่าง สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนน้อย ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรม ซึ่งหากรู้ตัวว่าตัวเองมีความเสี่ยงเหล่านี้ ก็จะได้วางแผนเลือกประกันสุขภาพ ให้ตรงความต้องการได้
ค่าชดเชย
- หากเจ็บป่วยไม่สบายอาจขาดรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว ดังนั้นตัวเลือกการทำประกันสุขภาพ ที่ครอบคลุมการชดเชยรายได้ จะสามารถชดเชยรายได้ที่ขาดหายไประหว่างรักษาตัว รวมถึงชดเชยเพิ่มเติมในกรณี เช่น เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ อื่น ๆ เป็นต้น
ซื้อประกันสุขภาพต้องดูอะไรบ้าง
- ต้องศึกษารายละเอียดความคุ้มครองให้ดี ก่อนซื้อประกันสุขภาพ ควรตรวจสอบเงื่อนไข ความคุ้มครองของกรมธรรม์ก่อนทำสัญญา
1.เลือกบริษัทประกันที่เชื่อถือได้ ควรเลือกบริษัทที่มีประวัติที่ดี มีความมั่นคงทางการเงิน มีความน่าเชื่อถือ เพราะอย่าลืมว่าภายหลังตัดสินใจเลือกกรมธรรม์กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งแล้ว เราจะเป็นลูกค้า และต้องใช้บริการต่อตั้งแต่ ชำระค่าเบี้ยประกันทุกปี หรือหากมีเหตุให้ต้องเคลมประกัน หรือยื่นขอเงินชดเชยตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ก็สามารถทำได้สะดวก และมั่นใจ
2.ข้อยกเว้นในกรมธรรม์ เป็นเงื่อนไขในกรมธรรม์ที่ระบุไว้ว่าไม่สามารถคุ้มครอง หรือมีข้อยกเว้นหากมีความเสี่ยงสูง เช่น โรคที่เป็นมาก่อน โรคจิตเวช ยาเสพติด ผลจากการดื่มสุรา ฆ่าตัวตาย เล่นกีฬา หรือกิจกรรมผาดโผน เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ อาจอยู่ในเงื่อนไขได้เช่นกัน โดยแต่ละกรมธรรม์ก็จะมีความแตกต่าง ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจทำประกัน
3.ระยะเวลารอคอย คือ ช่วงเวลาที่ประกันภัยยังไม่คุ้มครองหลังจากกรมธรรม์อนุมัติ เช่น ไม่คุ้มครอง 30 วัน 60 วัน หรือ 90 วัน โดยเรียกว่าระยะเวลาการรอคอย ในระยะดังกล่าวที่กำหนดนี้ หากตรวจพบโรค หรือเจอภาวะการเกิดโรคที่อยู่ในช่วงระยะเวลาที่บริษัทประกันเป็นผู้กำหนด ทางบริษัทประกันจะไม่คุ้มครอง ดังนั้น ควรอ่านรายละเอียด หรือสอบถามกับทางตัวแทนประกันเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน เพราะบางคนอาจเข้าใจผิดว่า ซื้อประกันแล้วก็สามารถคุ้มครองได้ในทันที
4.วิธีการเรียกร้องสินไหม หมายถึง ผู้เอาประกันที่ทำประกันสุขภาพ จะได้รับบัตรผู้เอาประกัน หรือแอปพลิเคชันที่ติดตั้งในมือถือ โดยสามารถแสดงกับโรงพยาบาลเพื่อใช้ในการเรียกร้องสินไหมกับบริษัทประกัน หรือใช้เป็นส่วนลดบางรายการ หรือนำส่งเอกสารใบเสร็จตัวจริง ใบรับรองแพทย์ เข้าบริษัทประกัน เพื่อทำการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน แต่ทั้งนี้ก่อนทำสัญญากรมธรรม์ ควรสอบถามรายละเอียด เช่น ช่องทางการเคลม ระยะเวลาการจ่ายเงิน เพื่อป้องกันการจ่ายเงินชดเชยล่าช้า หรือ เงื่อนไขที่อาจถูกปฏิเสธที่จะจ่ายเงินในอนาคตของบริษประกันภัยได้
ที่มา : เมืองไทยประกันชีวิต