ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม นายสมฤทธิ์ วงษ์สวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม เป็นประธานประชุมสภา วาระพิเศษ เนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวหลายรายว่าได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาการแพร่ระบาดของหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม หลังจากสิ้นสุดฤดูฝนแต่การแพร่ระบาดยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะสภาพอากาศแห้งแล้ง โดยได้เชิญนายประสิทธิ์ สิงห์ชา เกษตร จ.สมุทรสงคราม เข้ารับฟังและร่วมแก้ปัญหาด้วย
โดย จ.สมุทรสงคราม ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมะพร้าว 67,593 ไร่ ขณะนี้เกษตรกรกำลังประสพปัญหาศัตรูพืชระบาดเป็นวงกว้างและรุนแรงมากขึ้น พบมากที่สุด คือหนอนหัวดำ ระบาดในพื้นที่ 11 ตำบล เช่น ต.ท่าคา อ.อัมพวา ต.ดอนมะโนรา อ.บางคนที ต.นางตะเคียน ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง ฯลฯ รวม 602 ไร่ รองลงมาคือแมลงดำหนาม และด้วง
ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาหนอนหัวดำเป็น 3 ระยะคือ 1.ระยะเร่งด่วน สภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม จะร่วมกับสำนักงานเกษตร จ.สมุทรสงคราม สำรวจรวบรวมข้อมูลจากเครือข่ายเกษตรกร ผู้ได้รับผลกระทบและพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย 2. ระยะกลาง สภาเกษตรกรจังหวัดฯ จะร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ใช้การวิจัยด้วยนวัตกรรมโดรนกำจัดการแพร่ระบาดของหนอนหัวดำ รวมถึงการฉีดยาเข้าลำตันมะพร้าวที่ถูกทำลายอย่างหนัก และการจัดตั้งศูนย์กำจัดศัตรูพืชชุมชน และ 3 ระยะยาว คือการส่งเสริมการใช้แตนเบียนบราคอน และสนับสนุนศูนย์กำจัดศัตรูพืชชุมชนระดับท้องถิ่นที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งจะเสนอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนต่อไป
นายประสิทธิ์ สิงห์ชา เกษตร จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า จากการวิจัยรองรับโดยกรมส่งเสริมวิชาการเกษตรระบุว่า การใช้สารเคมีเจาะต้นมะพร้าวต้องใช้สารที่ชื่อว่า “อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92 ec” เท่านั้น เนื่องจากได้รับการรับรองแล้วว่าไม่มีสารตกค้างและควบคุมได้ในระยะเวลา 3-6 เดือน และแนะนำให้ใช้กับต้นมะพร้าวที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงเท่านั้น นั่นคือใบไหม้เกือบทั้งหมดเหลือใบสีเขียวแค่ 4-5 ทางใบ เนื่องจากหากใช้แตนเบียนจะไม่ทันเพราะพื้นที่ 1 ไร่ ต้องปล่อยอย่างน้อย 10-20 กล่องทุกๆ 7-15 วัน เป็นระยะเวลา 6 เดือน
สำหรับการฉีดอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92 ec เข้าต้นมะพร้าวตาลในต้นที่สูงกว่า 12 เมตร ให้เจาะต้นแล้วหยอด 10 cc ต่อ 1 ต้น ส่วนมะพร้าวอื่นที่มีความสูงต่ำกว่า 12 เมตรให้เจาะต้นหยอดได้ 5 cc ต่อ 1 ต้นเท่านั้น และเมื่อฉีดแล้วจะคุมจำนวนหนอนหัวดำและแมลงดำหนามให้ลดน้อยลงในระยะเวลา 3-6 เดือน และหากจะเก็บผลผลิต ก็ขอให้เก็บหลังจากเจาะต้นฉีดสารเคมีไปแล้วอย่างน้อย 7 ถึง 15 วัน เพื่อการันตีว่าปลอดสารตกค้าง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะต้นมะพร้าวฉีดสารเคมีแล้ว เนื้อเยื่อตรงนั้นของต้นจะถูกทำลายและต้องการเวลาฟื้นฟู ดังนั้นเพื่อป้องกันต้นเสื่อมโทรม จึงแนะนำว่าใน 1 ปี ให้เจาะต้นหยอดสารเคมีที่มีการระบาดหนักแค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น และเมื่อเจาะต้นมะพร้าวแล้ว แนะนำให้ควบคุมด้วยแตนเบียน เนื่องจากจะทำให้การแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัดและไม่เกิดผลกระทบต่อผลผลิตมะพร้าว ซึ่งเป็นผลดีในระยะยาว แต่ทั้งนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงแตนเบียนที่ไม่ทันต่อความต้องการ จึงขอให้ทุกภาคส่วนและเกษตรกรช่วยกันรวมกลุ่มเพาะเลี้ยง เนื่องจากสำนักงานเกษตรจังหวัดมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และอุปกรณ์สนับสนุน