ภายหลัง “อดีตนายกฯแม้ว” นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ได้โล่งอก เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ที่ร้องว่า นายทักษิณ และพรรคเพื่อไทยกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.49 แต่เรื่องก็ยังไม่จบ เพราะมีสำนวนคดีค้างอยู่ที่ กกต. โดยเฉพาะเรื่องการครอบงำพรรคเพื่อไทย ครอบงำ 6 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาลในบ้านจันทร์ส่องหล้า

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า เรื่องที่ กกต.ต้องพิจารณาไม่ใช่ประเด็นรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เรื่องของรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่นายทะเบียนพรรคการเมืองหรือ กกต. พิจารณากฎหมายพรรคการเมือง (พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง) ห้ามกระทำ แม้จะมีพฤติการณ์เดียวกัน ข้อเท็จจริงเดียวกัน แต่ต่างหน่วยงานต่างพิจารณากฎหมายคนละฉบับ กกต. หรือนายทะเบียนพรรคการเมืองจะพิจารณาว่าการกระทำที่ถูกร้อง ผิดกฎหมายพรรคการเมือง อันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคหรือไม่

“ที่ผ่านมา ที่นายทะเบียนไม่รับเรื่องของพรรคก้าวไกลไว้พิจารณา แต่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้ เพราะกรณีนั้นเป็นกรณีใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กกต.ไม่มีอำนาจที่จะไปพิจารณาเรื่องเหล่านั้น เกินขอบอำนาจของ กกต. ต่อมา มีคนมาร้องว่ามีพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมืองอันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคการเมือง นายทะเบียนก็รับไว้เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน แม้จะเป็นคนละประเด็นกับที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้ ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน เราทำตามขอบเขตหน้าที่เรา” นายแสวง กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นหลักๆ ที่มีผู้ร้องนายทักษิณต่อ กกต. คือเรื่องการครอบงำพรรคเพื่อไทย ครอบงำการจัดตั้งรัฐบาลแพทองธาร ที่ว่ากันว่า ไปจัดในบ้านจันทร์ส่องหล้า แต่นายทักษิณปฏิเสธบอกว่า “ไปกินมาม่ากัน” และทางพรรคเพื่อไทยเคยกล่าวถึงแนวทางการสู้คดีว่า ในการประชุมกันครั้งนั้นเคาะ นายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเป็นนายกฯ แทน “นายกฯเสี่ยนิด”เศรษฐา ทวีสิน แต่ต่อมาที่ประชุมสภากลับเลือก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แทน

สำหรับการเอาผิดนักร้อง นายกฤช เอื้อวงศ์ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย มีมติฟ้องเอาผิด นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร นักกฎหมายอิสระ ที่ร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนายทักษิณและพรรคเพื่อไทยว่า เบื้องต้นเราดูเรื่องของการฟ้องเท็จและหมิ่นประมาทที่จะฟ้องต่อศาลอาญาไว้ก่อน และอาจจะดูว่ามีกฎหมายอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ เช่นใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง อีกไม่นานคงได้ดำเนินการ เบื้องต้นจะฟ้องนายธีรยุทธซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้อง แต่กำลังดูอยู่ว่ามีใครเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ้างนอกจากนายธีรยุทธ

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทราบว่าฝ่ายกฎหมายของพรรคได้ร่างคำฟ้องแล้ว เชื่อว่าคงใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากล้มล้างการปกครองเป็นข้อหารุนแรง เป็นการใส่ร้ายที่หนักหนา เมื่อเป็นเช่นนี้ ยืนยันว่ายังไงก็ต้องฟ้อง ให้อภัยไม่ได้

บรรยากาศการแข่งขันทางการเมืองที่คึกคัก วันที่ 24 พ.ย. มีการเลือกนายก อบจ. ที่ต้องจับตาอย่างยิ่ง 3 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช แข่งกันระหว่าง “นายกต้อย”นางกนกพร เดชเดโช ผู้สมัครหมายเลข 1 แม่ของ สส.ประชาธิปัตย์ คือ “แทน ชัยชนะ เดชเดโช” และ “เท่ห์ พิทักษ์เดช เดชเดโช” แข่งกับ “เจ๊น้ำ” น.ส.วาริน ชิณวงศ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย ในโค้งสุดท้ายวันที่ 22 พ.ย. สองคนเปิดเวทีใกล้กัน เวทีของนางกนกพรนั้นมี สส. พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งในจังหวัดนครศรีธรรมราชและอื่นๆ รวมทั้งนายก อบจ.อีกหลายจังหวัดมาให้กำลังใจ

ในขณะที่เวทีของ น.ส.วาริน มี สส.พรรคภูมิใจไทย อดีต สส. อดีตผู้สมัคร สส. หลายพรรคการเมืองในจังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคใต้เดินทางมาให้กำลังใจและร่วมรับฟังการปราศรัย นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ และนายมาโนช เสนพงศ์ อดีต นายก อบจ. นครศรีธรรมราชน้องชายนายเทพไท มาร่วมเวทีนี้ด้วย

ภาคใต้เป็นฐานเสียงหลักของประชาธิปัตย์ ซึ่งภูมิใจไทยจ้องจะเจาะยางมานานแล้ว และทำสำเร็จได้หลายเขตในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี 2562 โดยการนำของแม่ทัพใต้ “เจ๊เปี๊ยะ นาที รัชกิจประการ” เก้าอี้นายก อบจ.พื้นที่นี้จึงเดิมพันคะแนนนิยมในพื้นที่สูงมาก

ในส่วน จ.เพชรบุรี เป็นการแข่งขันระหว่างนายชัยยะ อังกินันทน์ หรือนายกปราย อดีตนายก อบจ. ซึ่งเป็นบุตรชายนายปิยะ อังกินันทน์ อดีต สส.เพชรบุรี 5 สมัย กับนายกฤษณ์ แก้วอยู่ ซึ่งเป็นประธานสภาทนายความจังหวัดเพชรบุรีต่อเนื่องมาแล้ว 4 สมัย นายกฤษณ์เคยเป็น สส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ในปี พ.ศ.2562 แต่ต่อมา เมื่อแพ้การเลือกตั้ง สส.ปี 66 ก็มีข่าวว่า ย้ายไปอยู่พรรคก้าวไกล แต่นายกฤษณ์ ไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคประชาชน (ปชน.)

อีกจังหวัดหนึ่ง ที่จะเลือกในวันที่ 24 พ.ย. คือ อุดรธานี ซึ่งเป็นการแข่งเดือดระหว่างนายศราวุธ เพชรพนมพร หรือป๊อบ ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย มีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงให้ก่อนหน้านี้ แข่งกับนายคณิศร ขุริรัง หรือทนายเบี้ยว ผู้สมัครจากพรรคประชาชน (ปชน.) ซึ่งแกนนำพรรค อดีตแกนนำพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงแบบยิบตา เพราะหวังให้ตำแหน่งนายก อบจ.อุดรธานีเป็นหมุดหมายแรกของสนามท้องถิ่นของพรรค

วันที่ 23 พ.ย.มีการเลือกตั้งนายก อบจ. สุรินทร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการแข่งขันระหว่างคนภูมิใจไทย คือ นางธัญพร มุ่งเจริญพร อดีตประธานสภา อบจ.สุรินทร์ เบอร์ 1 , นายพรชัย มุ่งเจริญพร อดีตนายก อบจ.สุรินทร์ เบอร์ 2 เรื่องนี้ทำเอา “เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค ปวดหัว เพราะทั้งคู่มีสายสัมพันธ์กับพรรค แต่พรรคภูมิใจไทยไม่ได้ส่งลงสมัคร

ประชาชนมาใช้สิทธิตลอดทั้งวัน อาจจะไม่คึกคักมากเท่ากับการเลือกตั้ง สส.เพราะประชาชนที่ไปทำงานยังต่างจังหวัดไม่ค่อยกระตือรือร้นสนใจในการเลือกตั้งนายก อบจ.มากนัก จังหวัดสุรินทร์ มี 17 อำเภอ 2,326 หน่วยเลือกตั้ง มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 1,095,850 คน ร.ต.อ.นิยม เพ็ชรโกมล ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง (ผอ.กกต.) ประจำจังหวัดสุรินทร์ ระบุว่า ยังไม่มีเรื่องการร้องเรียนการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งจากทุกพื้นที่

ต่อมา ผลคะแนนในช่วง 19.30 น.เมื่อนับคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.สุรินทร์ได้เกือบถึงครึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คะแนนขับเคี่ยวกันแบบผลัดกันนำผลัดกันตาม ชนิดหายใจรดต้นคอ ระหว่างนางธัญพร และนายพรชัย โดยคะแนนต่างกันแค่หลักร้อยในขณะที่นับไปทั้งสองคน ต่างได้ถึง 104,000 คะแนนแล้ว.

“ทีมข่าวการเมือง”