การมีเส้นผมที่เงางาม นุ่มสลวย สะอาดเพียงแค่นี้ก็ทำให้หญิงสาว ชายหนุ่มมีบุคลิกภาพดีแล้ว แถมเส้นผมยังช่วยในการปกป้องความร้อนและความเย็น ป้องกันแสงแดด ตัวก่อเหตุมะเร็งผิวหนัง รวมทั้งป้องกันแมลงต่างๆ ได้อีกด้วย
ซึ่งเส้นผมของคนเราตั้งแต่เกิดนั้นมีมากกว่าหนึ่งแสนเส้น และจำนวนรากผมที่เยอะที่สุดจะเป็นช่วงแรกเกิด ต่อเมื่อเราอายุมากขึ้นเซลล์รากผมจะค่อยๆ ลดน้อยลงไป และสิ่งที่ทำให้หลายคนกังวลนั่นก็คือ “หงอก” เพราะหงอกคือตัวบ่งชี้ความหนุ่มแก่และอาจทำลายความมั่นใจได้อีกด้วย
สำหรับอายุเริ่มต้นผมหงอกจะมีความต่างกัน โดยค่าเฉลี่ยของคนเอเชียมักเริ่มมีผมหงอกตั้งแต่อายุก่อน 40 ปี ส่วนคนผิวขาวมักพบผมหงอกก่อนคนเอเชีย คือเฉลี่ยที่อายุประมาณ 35 ปี จึงเชื่อได้ว่าพันธุกรรมมีส่วนสำคัญกับภาวะผมหงอกก่อนวัย
โดยในกลุ่มคนผมหงอกก่อนวัย มักพบปัญหาเดียวกันในบิดาหรือมารดา ในเพศชายมักพบผมหงอกบริเวณจอนและขมับ ก่อนจะเริ่มพบกระจายบริเวณกระหม่อม และพบผมหงอกน้อยบริเวณท้ายทอย ส่วนในเพศหญิงมักเริ่มพบผมหงอกบริเวณไรผมก่อนบริเวณอื่น
ส่วนสาเหตุที่เร่งให้เกิดผมหงอก นอกจากธรรมชาติของเส้นผมแล้ว ยังมีสาเหตุหรือปัจจัยอื่นๆ ที่เร่งให้เกิดผมหงอก เช่น การสูบบุหรี่ เกิดสารอนุมูลอิสระซึ่งทำลายเซลล์โดยตรง การดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาหลายชนิด และโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไทรอยด์ชนิดเกรฟ (Graves disease) โรคผิวหนังอักเสบ (atopic dermatitis) ภาวะผิดปกติของภูมิต้านทาน โรคโลหิตจางชนิดขาดวิตามิน B12 โรคไตเรื้อรัง โรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคด่างขาว นอกจากทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคไม่มีสี มีลักษณะขาวซีดเป็นวงแล้ว เส้นผมบริเวณดังกล่าวมักกลายเป็นผมหงอกไปด้วย
ดังนั้นวิธีลดความเสี่ยง การเกิดผมหงอกก่อนวัย
งานวิจัยพบว่า การสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดผมหงอกก่อนวัย ดังนั้นควรงดสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสียหายต่อเซลล์สร้างเม็ดสีในรากผม
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยป้องกันการขาดสารอาหารของร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินมี 12 โอเมก้า 3 ธาตุเหล็ก ทองแดง และสังกะสีสูง เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อปลา ตับ ไข่ นมไขมันต่ำ ผักใบเขียว ถั่วและธัญพืชชนิดต่าง ๆ
ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือสงสัยว่ามีอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับการเกิดผมหงอกก่อนวัย เช่น โรคทางพันธุกรรมบางชนิด โรคไพบอลดิซึมกลุ่มอาการวาร์เดนเบิร์ก โรคด่างขาว โรคผมร่วงเป็นหย่อม โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง หรือโรคไทรอยด์ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
ขอบคุณข้อมูลจากรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย