จากกรณี พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. สั่งการให้ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบช.ปอศ. พร้อมด้วยพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. ส่งสำนวนการสอบสวนคดีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ นพ.บุญ วนาสิน อายุ 86 ปี ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรี กับพวก ในคดีเกี่ยวกับการหลอกลวงชักชวนให้ลงทุนให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยได้ส่งมอบสำนวนดังกล่าวไปเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังพบว่ามีมูลค่าทรัพย์สินความเสียหายเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ เนื่องด้วยปรากฏจำนวนผู้เสียหายในลอตดังกล่าว 12 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,900 ล้านบาท ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. รายงานข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า สำหรับการรับโอนสำนวนดังกล่าวจากหน่วยงานเจ้าของสำนวนเดิม ตามขั้นตอนแล้วหากเป็นการส่งหนังสือผ่านมาทางไปรษณีย์ หรือมีคนมายื่นคำร้องก็ตาม เรื่องก็จะเข้าสู่กองบริหารคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาและประมวลเนื้อหา ซึ่งกองบริหารคดีพิเศษจะมีหลักสำคัญในการดำเนินงาน คือ หากเรื่องนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วนก็จะมีการรายงานไปยังเลขานุการกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อรับทราบก่อนว่าบุคคลในคดีเป็นผู้ต้องหาในฐานความผิดใด และมีหมายจับของศาลด้วยหรือไม่ และเมื่อเรื่องเข้าสู่กองบริหารคดีพิเศษดังกล่าวแล้ว ก็จะมีการรายงานไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ด่วน! ศาลออกหมายจับ ‘หมอบุญ’ พร้อมพวก รวม 9 ราย ฉ้อโกงประชาชน-สมคบฟอกเงิน

ซึ่งอธิบดีฯ จะดำเนินการอยู่ 2 กรณี คือ 1.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เห็นแล้วพบว่าพยานหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว อาจมีคำสั่งให้รับไว้เป็นคดีพิเศษ ตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ หรือกรณีที่ 2.หากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เห็นว่าอาจต้องมีการกลั่นกรอง ก็จำเป็นต้องส่งเรื่องเข้าไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองคดีพิเศษ ที่มี ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธาน มีกองกฎหมายและกองบริหารคดีพิเศษ เป็นกรรมการ เพื่อกลั่นกรองเรื่องพิจารณาและเสนอความเห็นรายงานไปยังอธิบดีฯ เพื่อให้รับไว้เป็นคดีพิเศษ ว่า จะให้รับเป็นคดีพิเศษด้วยมาตราใด

เช่น รับเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) หรืออย่างไร เป็นต้น จากนั้นอธิบดีฯ จึงจะมีข้อสั่งการตามขั้นตอน ทั้งนี้หากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้ว สำนวนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกส่งมาที่ดีเอสไอ ไม่ว่าจะเป็นสำนวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) หรือสำนวนของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นอกจากนี้ หากคดีไม่มีความซับซ้อนมาก กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบก็สามารถดำเนินการได้ตามปกติ แต่ถ้ามีความซับซ้อนเหมือนคดีดิไอคอนฯ ก็มีความเป็นไปได้ว่าต้องตั้งเป็นคณะพนักงานสอบสวน หรือตั้งเป็น War Room

รายงานข่าว ระบุอีกว่า หากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้สั่งการให้รับคดีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ ก็จะส่งเรื่องไปยังหน่วยงาน/กองคดีที่จะให้รับผิดชอบดำเนินการ ดังนั้นหากพฤติการณ์ทางคดีที่ปรากฏในสำนวนมีลักษณะความผิดเป็นแชร์ลูกโซ่ หรือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 อาจจะต้องมอบหมายให้กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ หรือกองคดีแชร์ลูกโซ่ รับไปดำเนินการ

รายงานข่าว ระบุต่อว่า ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการติดตามจับกุมตัว นพ.บุญ วนาสิน หรือ หมอบุญ (ผู้ต้องหารายสำคัญ) ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยตำรวจได้ประสานไปยังกองการต่างประเทศให้ทำหนังสือไปยังตำรวจสากล เพื่อขอออกหมายแดงให้ช่วยติดตามจับกุม หากในเวลานั้นเป็นช่วงที่ดีเอสไอรับคดีไว้เป็นคดีพิเศษแล้ว ทางดีเอสไอจะดำเนินการรับไม้ต่อหรือประสานงานอย่างไรนั้น ตนขออธิบายว่า หากมีการรับโอนสำนวนมาเเล้ว ในบรรดาผู้ต้องหาที่ตกค้างอยู่ ก็เป็นหน้าที่ของดีเอสไอที่จะต้องติดตามจับกุมตัวและสอบสวนสืบสวนขยายผล ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีอำนาจในการจับกุมอยู่ดังเดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ หรือสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็ตาม ดีเอสไอจึงมีหน้าที่อีกประการก็คือประสานงานกับกองการต่างประเทศ (ตร.) ซึ่งถ้าหากมีการจับกุมตัวได้แล้ว เจ้าพนักงานผู้จับกุมก็ต้องนำตัวผู้ต้องหาส่งให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีในเวลานั้น

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า ตนได้มีการตรวจสอบไปยังเลขานุการกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรียบร้อยแล้ว และได้รับรายงานว่า ยังไม่พบว่ามีการประสานเรื่องดังกล่าวเข้ามาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากมีการประสานจะส่งสำนวนคดีดังกล่าวให้ดีเอสไอพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ ดีเอสไอก็จะต้องดูในเรื่องของข้อกฎหมายประกอบกัน อาทิ สำนวนดังกล่าวมีข้อกล่าวหาที่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอหรือไม่ ตามพฤติการณ์แห่งคดี สำนวนคดีมีความครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอที่จะรับดำเนินการไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ มีรายละเอียดเป็นไปตามบัญชีแนบท้ายของประกาศ กคพ. หรือไม่ ซึ่งท้ายสุดจะเป็นอำนาจของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะพิจารณาจากเนื้อหาข้อเท็จจริงทั้งหมด.