เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยืนยันว่าการจะแปลงร่างกฎหมายประชามติเป็นกฎหมายการเงินไม่สามารถทำได้ เพราะเลยระยะเวลามาแล้ว ว่าอ่านรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ก็ยอมรับว่าขั้นตอนนี้เลยมาแล้วจริงๆ ตนก็ไม่ได้เถียงว่าเลยมาแล้ว แต่ที่ตนยกประเด็นขึ้นมา หมายความว่าเมื่อมีปัญหา กมธ.ร่วมเห็นไม่ตรงกัน ถือเป็นอุปสรรคของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่แล้วเสร็จ ตนจึงคิดว่าทางออกควรเป็นอย่างไร ซึ่งการตีความว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งตนก็ไม่ได้ฟันธง จึงได้บอกว่าต้องมีการหารือกัน ซึ่งสื่อมวลชนคงจำได้ว่าตนเคยบอกว่าให้หารือกับประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และ กมธ. ว่าจะมีทางออกได้หรือไม่ และไม่ได้ฟันธงว่าเป็นไปตามนั้น ซึ่งหากไปไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
“สิ่งที่นายนิกรพูดมา ผมก็ไม่ได้เถียงอะไร แต่ปัญหาข้อกฎหมายต้องหารือกันว่ามีทางออกอะไรหรือไม่” นายชูศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าหากร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติไม่ใช่กฎหมายการเงิน จะมีทางออกให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้วเสร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อย่างที่ตนเคยบอกคือการลดการทำประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเสร็จทันรัฐบาลนี้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ขอย้ำว่าถ้าทำประชามติ 3 ครั้ง ก็ไม่ทัน แต่ถึงอย่างไรก็จะดันเต็มที่ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อย่างน้อยก่อนหมดวาระรัฐบาลชุดนี้ ก็จะได้มี ส.ส.ร. ซึ่งตนได้เคยบอกกับสื่อไปแล้ว ส่วนการเลือกตั้งก็ใช้กติการัฐธรรมนูญฉบับเก่าไปก่อน
เมื่อถามว่า หากแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ทัน จะมีการแก้ไขรายมาตราในประเด็นสำคัญหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าเราเดินไปในแนวทางที่จะมี ส.ส.ร. เพื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนคิดว่าประเด็นรายมาตราคงไม่มี เพราะเราจะมอบหมายให้ ส.ส.ร. ยกร่างแล้ว ซึ่งถือเป็นตัวแทนประชาชน หากไปทำรายมาตราอีก ก็จะดูไม่สมเหตุสมผล เว้นแต่กรณีจำเป็นจริงๆ แต่เมื่อดูสถานการณ์ตอนนี้แล้ว ก็ไม่มีอะไรที่คอขาดบาดตาย