สัญญาณแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างใหม่ ทำท่าเป็นไปได้ยากแล้ว ภายหลังท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย(ภท.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) บ่งชี้ชัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของประชาชน แต่เป็นความเร่งด่วนของนักการเมืองเท่านั้น อีกทั้งสัญญาณบ่งชี้ว่าการโหวตในคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายการลงประชามติล้มไม่เป็นท่า เป็นอันต้องพับแผนไปตามระเบียบ

แน่นอนว่าท่าทีที่ชัดเจนมติของคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา ยืนยันด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 13 ต่อ 9 ให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มตินี้ทำให้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันในรัฐบาลนี้ เพราะจะต้องรอเวลาไปอีก 180 วัน เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรยืนยันให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว และต้องจัดทำร่างกฎหมายอีกหนึ่งเดือน ส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทันสมัยรัฐบาลชุดนี้ ที่เหลือเวลาแค่ 2 ปีเศษเท่านั้น

เมื่อผลมติของคณะกรรมาธิการร่วมฯดังกล่าวออกมาให้ใช้วิธีแบบ “เสียงข้างมากสองชั้น” ตามความเห็นของวุฒิสภา เชื่อเชื่อว่า ฝ่าย สส.ก็ยังคงยืนแบบเดิมคือ “เสียงข้างมากชั้นเดียว” ทำให้ร่างกฎหมายนี้ต้องค้างไว้ 180 วัน เพื่อให้สภาผู้แทนฯได้ลงมติยืนยันอีกครั้ง ในที่สุดเมื่อพักไว้ 180 วัน จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “รวน” ไปด้วย เพราะการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องผ่านการลงประชามติก่อน และยังไม่รู้ว่าจะต้องลงประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง เพราะต้องมีการตีความตามมาอีกมากมาย

ทั้งหมดทั้งมวลเห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้รับการขนานนามว่า “ฉบับสืบทอดอำนาจ” คณะรัฐประหาร หลายคนมองว่าเป็นฉบับพิสดาร นอกจากวางกลไกให้สืบทอดอำนาจ โดยให้ สว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีสิทธิเลือกหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยัง “มัดตราสัง” เอาไว้ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยากหรือแทบจะแก้ไขไม่ได้ถือเป็นอภินิหาร ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

งานนี้ “นิกร จำนง” เลขานุการคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร ออกโรงยืนยันว่า 180 วัน เป็นปัญหา เพราะแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐบาลนี้ไม่มีทางทำได้ แต่ก็มีความคิดกันว่าให้ได้ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็ยังดี ก็คงต้องหาทางออกกันไปโดยคาดว่าจะเสนอรายงานต่อสส. และ สว. ในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ เพื่อให้สามารถบรรจุระเบียบวาระการประชุม พร้อมคาดว่าจะสามารถทำประชามติครั้งแรกได้ช่วงเดือนม.ค. ปี 2569

เอาเป็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแก้ไขให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับเป็นไปได้ยาก แม้ผู้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะบังคับให้การแก้ไขทำได้ยากแล้ว แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับก็มีความสำคัญไม่น้อย เมื่อพิจารณาจากอารมณ์ของชาวบ้านที่เฉยเมยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และเป็นเรื่องไม่จำเป็นสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน เป็นแค่ความต้องการของนักการเมืองเท่านั้น ฉะนั้นตามที่กูรูทางการเมืองฟันธงตรงกันว่าประตูแก้ไขรัฐธรรมนูญปิดตายตอนนี้ทำได้เพียงจั่วลมไปวันๆเท่านั้น