ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ บริเวณเวที กลางสนามศรีณรงค์ อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ นายวสันต์ ชิงชนะ รอง ผวจ.สุรินทร์ ประธานเปิด โครงการ “รณรงค์ยุติความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” จ.สุรินทร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และประกาศเจตนารมณ์ “สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” (AT NOW to end Violence against Women and Girls) เพื่อแสดงจุดยืนในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว
จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ความจำเป็นทางเศรษฐกิจและการทำงาน ปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม การพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงวิถีชีวิตครอบครัวไทยในอนาคต โดยปัญหาความรุนแรงในครอบครัว นับเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ และทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต รวมทั้ง เป็นที่มาของปัญหาต่าง ๆ ในสังคมอีกมากมาย ผู้ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กและสตรี ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาแล้ว สังคมมักมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว รวมทั้งหากกรณีผู้กระทำความรุนแรงเป็นชาย มักเกิดจากแนวคิด เจตคติ และวัฒนธรรมที่ใช้อำนาจชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นที่รับรู้ของคนในสังคมไทย และยังมองว่าเป็นเรื่องของคนในครอบครัว ที่ต้องแก้ไขปัญหากันเองภายในครอบครัว
ซึ่งข้อมูลจากระบบคุ้มครองช่วยเหลือเด็ก สตรี และผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ต.ค. 2567 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงฯ จำนวน 1,961 ราย พบว่า อันดับสูงสุดของความสัมพันธ์ของผู้กระทำความรุนแรงมากที่สุด คือ ความรุนแรงระหว่างสามีภรรยา คิดเป็นร้อยละ 45.26 โดยสาเหตุ/ปัจจัยที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ บันดาลโทสะ คิดเป็นร้อยละ 20.66 รองลงมาคือ ยาเสพติด คิดเป็นร้อยละ 19.78 และสุรา คิดเป็นร้อยละ 17.06 ในส่วนของ จ.สุรินทร์ พบว่าปี 2567 มีเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว จำนวนทั้งสิ้น 28 เหตุการณ์
ด้วยผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่กล่าวข้างต้น ผนวกกับตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2542 กำหนดให้เดือน พ.ย. ของทุกปี เป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.สุรินทร์ จึงได้ดำเนินการจัดโครงการ “รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” จ.สุรินทร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อให้คนในสังคมตระหนักรู้ รับรู้สาเหตุ/ปัจจัย และแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว สร้างสัมพันธภาพและการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครอบครัว การสร้างเจตคติ ค่านิยม และปลูกฝังมายาคติที่ถูกต้อง รวมทั้งส่งเสริมบทบาทในการเข้ามามีส่วนร่วม/รับผิดชอบ และเป็นพลังในการยุติปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวให้หมดสิ้นไป ภายใต้แนวคิด “สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” (AT NOW to end Violence against Women and Girls)