ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก. และคณะได้ลงพื้นที่ ต.ท่าคา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ติดตามความก้าวหน้าเพื่อประกอบการตัดสินใจสนับสนุนงบประมาณโครงการ “วิจัยเพื่อพัฒนาผู้ให้บริการโดรนกำจัดแมลงศัตรูพืชสวน (Service Provider) ใน จ.สมุทรสงคราม” หลังจากได้รับการร้องเรียนจากสมาพันธ์ชาวสวนมะพร้าว จ.สมุทรสงคราม และเกษตรกรผ่านสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม เนื่องจากมะพร้าวถูกรบกวนจากหนอนหัวดำและแมลงดำหนามได้รับความเสียหายอย่างหนักในพื้นที่ 3 อำเภอคือ อ.เมือง อ.อัมพวา และ อ.บางคนที รวม 602 ไร่

นายชัยยันต์ เจียมศิริ ประธานคณะทำงานการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรกร สภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ระบาดของหนอนหัวดำและแมลงดำหนามที่มีแนวโน้มขยายพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ สภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม จึงมีมติเห็นชอบและเป็นผู้วิจัยร่วมกับสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (มหาวิทยาลัยชีวิต) เขียนโครงการขอสนับสนุนงบประมาณจาก สวก. เพื่อทำงานวิจัยตัวใหม่ในการใช้โดรนเป็นนวัตกรรมป้องกันการระบาดของหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม โดยขณะนี้ สวก.เห็นชอบโครงการและผ่านการพิจารณาเบื้องต้นจึงได้ลงพื้นที่ ต.ท่าคา เพื่อทดลองใช้โดรนฉีดพ่นสารเคมีที่ได้รับการรับรองจากกรมส่งเสริมวิชาการเกษตรว่าไม่มีสารตกค้างเพื่อประกอบการตัดสินใจสนับสนุนงบประมาณดังกล่าว

โดยใช้โดรนขนาด 4 ใบพัด กว้าง 2.50 เมตร ฉีดพ่นสารเคมีในระยะ 3 เมตรห่างจากปลายยอดมะพร้าวซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม เพื่อทดสอบการพ่นและการฟุ้งกระจายของละอองว่าทั่วถึงหรือไม่ก่อน โดยโดรนที่นำมาทดลองครั้งนี้สามารถเติมสารเคมีได้ครั้งละ 45 ลิตร มีประสิทธิภาพบินได้สูงในระดับไม่เกิน 90 เมตรตามที่กฎหมายกำหนด และบินได้นานสูงสุด 15 นาที เนื่องจากตัวเครื่องเป็นระบบแบตเตอรี่ความจุ 2,900 มิลลิแอมป์ ควบคุมด้วยระบบ AI เซ็นเซอร์ 360 องศา และเป็นระบบตั้งค่าอัจฉริยะคือให้ AI ทำงานแทน 99% ส่วนที่เหลืออีก 1% ผู้ใช้งานจะควบคุมแค่ร่างแผนที่ให้ AI ทำงาน

นายชัยยันต์ กล่าวว่า การบินโดรนฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชสวนครั้งนี้ ได้มีการทดสอบการกระจายของการพ่นละอองทั้งบนใบและใต้ใบมะพร้าวด้วยการใช้ไฟส่องอนุภาคสะท้อนแสงเนื่องจากไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่เห็นได้ชัดในที่มืด ซึ่งปรากฏว่าเป็นไปอย่างทั่วถึงได้ผลถึง 90% และโดรนยังสามารถจดจำตำแหน่งฉีดพ่นครั้งก่อนได้ด้วย ดังนั้นการใช้โดรนจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถกำจัดหนอนหัวดำและแมลงดำหนามได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้เกษตรกรยังไม่ต้องสัมผัสสารเคมีแบบเดิม ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ อีกทั้งโดรนยังสามารถคำนวณปริมาณการใช้สารเคมีให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้อีกด้วย ทำให้ลดปริมาณการใช้สารเคมีที่เกินความจำเป็น จึงลดต้นทุนทั้งค่าแรงลดเวลา ลดปริมาณสารเคมี อีกทั้งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

เบื้องต้นเร็วๆ นี้ จะมีโดรนจำนวน 2 เครื่องมาฉีดพ่นสารเคมีนำร่องในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม จำนวน 200 ไร่ หากได้ผลดีก็จะมีการขับเคลื่อนโครงการไปถึงชาวสวนที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด ดังนั้นการใช้โดรนฉีดพ่นสารเคมีจึงน่าจะเป็นความหวังของชาวสวนในเรื่องการกำจัดศัตรูมะพร้าวที่เป็นปัญหามานานให้เบาบางลงหรือหมดไป จึงขอให้ชาวสวนมะพร้าวติดตามเรื่องนี้ ซึ่งทางสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม จะแจ้งให้ทราบต่อไป