นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ร่วมกับ ธนาคารกลางมาเลเซีย ประกาศขยายขอบเขตกลไกการชำระเงินสกุลริงกิต-บาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป โดยการขยายความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศมาเลเซียและไทย และให้ประชาชนคนไทยและมาเลเซียได้ชำระเงินระหว่างกันสะดวกยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การขยายขอบเขตกลไกการชำระเงินสกุลริงกิต-บาท จะขยายกลุ่มผู้ใช้บริการให้ครอบคลุมชาวไทยที่อยู่ในมาเลเซีย และชาวมาเลเซียที่อยู่ในไทย รวมถึงผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินเพิ่มเติม เช่น เกณฑ์การเรียกเอกสารให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนและภาคธุรกิจในมาเลเซียและไทย ช่วยส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินข้ามพรมแดน และยังช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ระหว่างสองประเทศที่เริ่มให้บริการไปก่อนหน้า โดย ธปท.เชื่อว่า การขยายขอบเขตจะช่วยส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น และการรวมกลุ่มทางการเงินภายในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

นายเมธี กล่าวว่า ธปท.และธนาคารกลางมาเลเซีย ได้ร่วมคัดเลือกธนาคารพาณิชย์จากทั้ง 2 ประเทศ เพื่อดำเนินการภายใต้กลไกการชำระเงินสกุลริงกิต-บาท โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณาเข้าร่วม ได้แก่ เงินกองทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง ประสบการณ์การให้บริการด้านการค้าและการลงทุนโดยตรงระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงการมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เข้มแข็งกับธนาคารพาณิชย์ในอีกประเทศหนึ่ง

สำหรับธนาคารพาณิชย์ในมาเลเซียที่ได้รับการแต่งตั้ง ประกอบด้วย 1.ธนาคารเอชเอสบีซี มาเลเซีย เบอร์ฮัด 2.ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด มาเลเซีย เบอร์ฮัด 3.ธนาคารกรุงเทพ เบอร์ฮัด 4.ธนาคารซีไอเอ็มบี เบอร์ฮัด 5.มาลายัน แบงก์กิ้ง เบอร์ฮัด 6.เอ็มบูเอฟจี แบงก์ (มาเลเซีย) เบอร์ฮัด 7.พับบลิค แบงก์ เบอร์ฮัด 8.อาร์เอชบี แบงก์ เบอร์ฮัด และ9.ธนาคารยูโอบี (มาเลเซีย) เบอร์ฮัด

ด้านธนาคารพาณิชย์ไทยที่ได้รับการแต่งตั้ง ประกอบด้วย 1.ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด สาขากรุงเทพฯ 2.ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) 3.ธนาคารกรุงเทพ 4.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 5.ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 6.ธนาคารกสิกรไทย 7.ธนาคารกรุงไทย 8.ธนาคารไทยพาณิชย์ และ9.ธนาคารยูโอบี