เมื่อม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ภายใต้การนำของ “นายสนธิ ลิ้มทองกุล” เคยทำให้รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ต้องมีอันเป็นไป ดังนั้นเมื่อแกนนำสีเหลืองออกมาเคลื่อนไหว และส่งสัญญาณไปถึง “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ นำเรื่องเอ็มโอยู 2544 มาเป็นประเด็นในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ทางการเมืองใกล้สุกงอม พร้อมลงถนนครั้งสุดท้าย ซึ่งตอนนี้ก็มีความร้อนแรง แต่ต้องรอให้เดือดกว่านี้ หลายคนเลยให้ความสนใจ โดยในวันจันทร์ที่ 2 ธ.ค. 67 เวลา 10.30 น. นายสนธิ และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต จะไปยื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้นายกฯ ชี้แจงกรณีเอ็มโอยู ไทย-กัมพูชา 44 ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางทะเล 12 ไมล์ทะเลโดยรอบเกาะกูด จ.ตราด หลังจากที่ “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม อ้างว่าเกาะกูดยังเป็นของไทย และเอ็มโอยู ไทย-กัมพูชา ปี 44 ไม่สามารถยกเลิกได้
ด้าน นายภูมิธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (เจทีซี) เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกันทางทะเล ระหว่างไทยและกัมพูชา ว่า ไม่แน่ใจว่าจะเสร็จทันวันที่ 29 พ.ย.นี้หรือไม่ ก็พยามยามทำให้เกิดความชัดเจนที่สุด แต่อย่างไรเรื่องนี้ถูกควบคุมเป็นอย่างดี เนื่องจากมีเอ็มโอยู 44 ส่งผลให้การสรุปผลอะไรต่างๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน และต้องเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาทั้ง 2 ฝ่าย รวมไปถึงต้องยืนตามกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ว่าผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องผ่านทั้ง 3 เงื่อนไขนี้ หากไม่ผ่านก็ไปต่อไม่ได้อยู่ดี ส่วนตัวไม่อยากให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องเอ็มโอยู 44 อีกแล้ว จนกว่าจะการแต่งตั้งคณะกรรมการเจทีซี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการนำเรื่องดังกล่าว มาทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่อยากเถียงอะไรกับใคร อยากทำงาน
เมื่อถามว่า แม้รัฐบาลจะไม่อยากพูด แต่นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำ พธม. พยายามนำประเด็นดังกล่าวมาปลุกระดม และจะมายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ก็ให้พูดไปเรื่อยๆ ไม่เป็นไรหรอก เป็นสิ่งหนึ่งที่บอกไปแล้วว่า เป็นประเด็นเดิมๆ ตราบใดที่ใช้สิทธิตาม รธน. และกฎหมายก็สามารถทำได้ แต่จะลงไปรับหนังสือด้วยตัวเองหรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่ได้เกี่ยวข้อง และยังไม่ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งใด รวมถึงไม่ทราบประเด็นที่นายสนธิ จะมายื่น เพราะไม่ได้ฟัง
ก่อนหน้านี้ ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ ออกมาให้ความเห็นว่า ถึงเอ็มโอยู 44 มีข้อดีอย่างน้อย 3 ข้อ ได้แก่ 1.เป็นครั้งแรกที่ตั้งคณะกรรมการเจรจา ไม่มีการเสียดินแดน เพราะยังไม่มีการเจรจา 2.จะเจรจาผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเจรจาไปพร้อมกับเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลที่ทับซ้อนกันอยู่ เป็น Indivisible Package ที่แบ่งแยกไม่ได้ 3.เอ็มโอยูจะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (โอซีเอ) ของไทยและกัมพูชา หากการเจรจาล้มเหลวก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการอ้างสิทธิใดๆ
ส่วนคำถามว่า การยกเลิกเอ็มโอยูทำได้หรือไม่ ดร.สุรเกียรติ์ ชี้ว่า ยกเลิกได้ แต่มีคำถามเพิ่มเติมคือจะได้ความตกลงที่ดีกว่านี้หรือไม่ จะได้ความตกลงที่กัมพูชายอมให้ต้องเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเล ไปพร้อมๆ กับเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ในการขุดเจาะปิโตรเลียม
“เราได้เอ็มโอยูนี้มาเมื่อปี 2544 ไม่ใช่ว่าได้มาง่ายๆ นะครับ เราใช้อำนาจต่อรองมากพอสมควรที่จะได้เอ็มโอยู อันนี้มา และเราพูดกันว่าอยากจะเลิกอันนี้ ไม่เคยได้ยินกัมพูชาออกมาพูดว่า จะคัดค้านเลย เขาจะดีใจมากถ้าเรายกเลิก เพราะว่าเป็นความตกลงที่เราค่อนข้างจะได้ประโยชน์” ดร.สุรเกียรติ กล่าว
คงต้องรอดูว่าประเด็นการเคลื่อนไหวของแกนนำ พธม. จะส่งผลกระทบกับรัฐบาลหรือไม่ เพราะเรื่องเอ็มโอยู 44 เป็นเรื่องอ่อนไหว เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเรื่องดินแดนและผลประโยชน์ด้านพลังงาน ดังนั้นเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารต้องทำความเข้าใจอย่างชัดเจน
ส่วนปัญหาเรื่องที่ดินเขากระโดง ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งระหว่าง “การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท. )” และ “กรมที่ดิน” นั้น นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า กมธ.ได้นัดประชุมในวันที่ 27 พ.ย. โดยมีวาระพิจารณากรณีพิพาทปัญหาที่ดินเขากระโดงในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบข้อกฎหมาย คือ กรณีของการตั้งคณะกรรมการ ซึ่งกรมที่ดินตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีของการเพิกถอนโฉนด ตามคำสั่งของศาล โดย กมธ. ต้องการทราบอำนาจขอบเขตของกรรมการชุดดังกล่าวว่ามีอำนาจหยุด หรือ ระงับการเพิกถอนโฉนดได้หรือไม่ ทั้งที่ศาลมีคำสั่งชัดเจนแล้วว่าให้ดำเนินการร่วมกัน ระหว่าง รฟท. และกรมที่ดิน
นายพูนศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับบุคคลที่ กมธ. เชิญมา ได้แก่ รมว.มหาดไทย รมว.คมนาคม ซึ่งถือเป็นบุคคลที่เป็นเบอร์หนึ่งของหน่วยงาน และสามารถให้ข้อมูลข้อเท็จจริงได้ในการดำเนินการ ทั้งในส่วนของกรมที่ดิน และรฟท. ซึ่ง กมธ. ต้องการรับฟังจาก รมว.คมนาคม ด้วยว่า แนวทางของ รฟท. จะเป็นอย่างไร จะดำเนินการทางศาลหรือไม่ หรือมีแนวทางอย่างไรที่จะนำที่ดินกลับมาเป็นของรัฐ
ด้าน นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ในฐานะสมาชิกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้ความเห็นว่า เมื่อศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้กรมที่ดินดำเนินการตามมาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดิน และหากผลการพิจารณาเป็นอย่างไร ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมที่ดิน ที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น ซึ่งกรมที่ดินมีหน้าที่รักษาทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน และต้องรักษาสิทธิของประชาชน ประกอบกับโฉนดที่ดินเป็นเอกสารมหาชน การจะเพิกถอนโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารมหาชน จะต้องเป็นการออกเอกสารคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 61
“เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามคำสั่งศาล ไม่มีบุคคลใดจะไปแทรกแซงหรือครอบงำหรือสั่งการได้ ถึงแม้นายอนุทิน ชาญวีรกุล จะดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ก็ตาม เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามคำสั่งศาล ซึ่งเป็นสถาบันที่ประชาชนให้ความเคารพและเชื่อถือ และสมควรอย่างยิ่งที่ทุกๆ ฝ่ายควรจะปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางศาล และทางราชการ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรมีการแสดงความคิดเห็นที่อาจสร้างความเสียหายและสับสนให้กับสังคม เพราะย่อมจะไม่เป็นธรรมกับทุกคนเกี่ยวข้อง” นายคารม กล่าว
คงต้องรอดูการประชุม กมธ.ที่ดิน จะมีบทสรุปอย่างไร รมว.มหาดไทย รมว.คมนาคม ซึ่งถือเป็นบุคคลที่เป็นเบอร์หนึ่งของหน่วยงาน และสามารถให้ข้อมูลข้อเท็จจริงได้ จะเดินทางมาให้ข้อมูลกับ กมธ. หรือไม่ และเรื่องนี้จะกลายเป็นปม ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง “พท.” กับ “ภท.” หรือไม่
ส่วนกระบวนการเช็กบิลบรรดานักร้อง ที่ยืนเรื่องให้ตรวจสอบพรรคแกนนำรัฐบาล ดูเหมือนฝ่ายกฎหมายพรรคพท. จะเริ่มเดินหน้าแล้ว “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ มือกฎหมายรัฐบาล ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพท. ให้สัมภาษณ์ถึงการฟ้องกลับ นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร ทนายความอิสระ ภายหลังศาลรธน. มีมติไม่รับคำร้องให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพรรคพท. หยุดการกระทำที่อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯา ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะการจะฟ้องอะไรต้องดูข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน ก็อยากให้ทีมกฎหมายดูให้รอบคอบ และสัปดาห์นี้น่าจะจบ ส่วนข้อกล่าวหานั้น ยังไม่สามารถที่จะบอกได้ชัดเจนว่าข้อหาอะไร แต่ก็อยู่ในกลุ่มเหล่านี้
เมื่อถามว่า จะฟ้องนายธีรยุทธ คนเดียว หรือฟ้องนักร้องคนอื่นด้วย นายชูศักดิ์ กล่าวว่า กำลังดูอยู่มีใครบ้าง เมื่อถามต่อว่า หลายคนมองว่า พรรค พท.เป็นสาธารณะ การที่จะไปฟ้องกลับนักร้อง เกรงจะถูกมองไม่ดีหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ในทางหลักสากล ถ้าเป็นเรื่องของการติชมเพื่อความเป็นธรรม หรือให้ความเห็นเพื่อความเป็นธรรมของสังคม อย่างนี้เรารับกันได้ ไม่มีปัญหาอะไร
“แต่ถ้าเป็นในลักษณะของการใส่ร้ายโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง บิดเบือนข้อกฎหมาย หรือไปกล่าวหาว่ามีการทุจริต ทั้งที่เขาไม่ได้ทำ หรือไม่ได้มีหลักฐานอะไร กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน มากล่าวหาว่าล้มล้างการปกครอง ซึ่งถ้าดูจริงๆ ข้อกล่าวหานี้แรงมาก เท่ากับกบฏ เมื่อมันแรงเช่นนี้โดยที่การกระทำของเราไม่ใช่ แต่คุณกลับไปปรับแต่งข้อเท็จจริง บิดเบือนว่ามันใช่ อย่างนี้ควรต้องดำเนินการ ดังนั้น จะดูเป็นกรณีไป ดูเหตุผล ดูเจตนาเป็นหลัก เรื่องล้มล้างการปกครองเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เท่ากับกบฏในอดีต ดังนั้น ศาลจึงบอกว่าเรื่องนี้ศูนย์เลย ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง ถึงได้ยก อย่างนี้ก็ควรจะใช้ดุลยพินิจพิจารณาได้ว่าอย่างนี้ไม่ไหว มันเกินไปนะ แต่ถ้าเกิดเป็นการติชม สื่อติชมพรรคการเมืองตรงนั้นตรงนี้โดยสุจริต ตรงนี้เป็นเรื่องธรรมดา” นายชูศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม “นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือร้องเรียนทางไปรษณีย์ เพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งศาลรธน.วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มีเหตุสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความใน รธน. มาตรา 170 (5) มาตรา 160 (5) ประกอบมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6 หรือไม่ จากกรณีเอ็มโอยู 44 บันทึกข้อตกลงไทย – กัมพูชา เกี่ยวกับกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย – กัมพูชา ดังนั้น หากการกระทำเรื่องเอ็มโอยู 44 ดังกล่าว เข้าข่ายมาตรฐานทางจริยธรรม ลักษณะ 1 ข้อ 6 กรณี ย่อมอาจเป็นไปตามความในรธน.มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 160 (5) ที่ อาจเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลง ทั้งนี้ ได้ส่งสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16066/2555 และสำเนามติคณะรัฐมนตรี(ครม. ) เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2553 มาเป็นตัวอย่างเพื่อใช้ประกอบการตรวจสอบของ กกต. ด้วยแล้ว
คงต้องรอดู “พรรคพท.” จะเช็กบิลนักร้องหรือไม่ เพื่อตอบโต้กระบวนการตรวจสอบ ซึ่งถูกมองว่าเป็นนิติสงคราม แต่อีกมุมหนึ่งในฐานะที่เป็นพรรคการเมือง ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ทางการเมือง ย่อมสามารถตรวจสอบได้ และการใช้กฎหมายมาดำเนินการ อาจถูกมองว่า ต้องการฟ้องปิดปาก.
“ทีมข่าวการเมือง”