นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ในปี 65 เศรษฐกิจโลกอาจเจอความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจชะลอตัวแรง จากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเพราะความต้องการน้ำมันเร่งตัวเร็ว สวนทางกับกำลังการผลิตน้ำมันเติบโตช้า คาดว่าสถานการณ์นี้จะยืดเยื้อไปถึงไตรมาสแรกปี 65 ก่อนราคาน้ำมันจะเริ่มลดลงและกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง ด้านเงินเฟ้อของไทยในไตรมาส 4 ปี 64 จะอยู่ที่ 1.5% จากปีก่อน และขยับขึ้นไปที่เฉลี่ย 1.7% ในปี 65 หากราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยที่ 83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในไตรมาส 4 และ 66 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 65

นอกจากนี้มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่า 2% ในไตรมาส 3 ปี 65 จากฐานที่ต่ำปี 64 แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นชั่วคราวตามราคาน้ำมัน ไม่น่าเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังห่างไกลจากภาวะเงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจชะลอหนัก โดยเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ 3.2% ในปี 65 ยกเว้นมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่ทำเงินเฟ้อเร่งขึ้น

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ปัจจัยภายในประเทศที่ต้องจับตามองคือพัฒนาการทางการเมือง และสถานการณ์โควิดหลังเปิดประเทศ ขณะที่นักลงทุนเริ่มมองปัจจัยอื่นๆ ในช่วงหลังโควิด เช่น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่ จะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อหรือไม่ รวมทั้งจับตาดูว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นกลับมาได้อย่างที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ด้วย

ขณะเดียวกันได้ประเมินเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวและเติบโต 3% ในปี 65 ซึ่งขณะที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัว สิ่งที่น่าติดตามคือ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เข้มแข็งเพียงใด จากที่มองจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนในขณะนี้ ซึ่งอาจทบทวนมุมมองนี้อีกครั้ง รอดูตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคช่วงปลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพรวมการเปิดประเทศหลังจากวันที่ 1 พ.ย.นี้

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า นักวิเคราะห์มีมุมมองเรื่องเศรษฐกิจโดยปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 64 ลงเหลือ 0.6% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 1.3% ขณะที่ปี 65 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.5% จากเดิมคาดขยายตัว 3% ขณะอัตราเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2% และปี 65 คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.5% ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 0.5% ต่อปีจนถึงสิ้นปี 65

ทั้งนี้นักวิเคราะห์ประเมินเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นปกติได้ภายในปี 65 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เห็นว่าประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ช้ากว่าการประเมินในรอบเดือน ก.ค. ที่เป็นช่วงก่อนการระบาด ส่วนหนึ่งเพราะกังวลว่าการระบาดอาจกลับมารุนแรงขึ้นอีกหลังจากเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยจำนวนผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็มเกิน 70% ของประชากร จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการกลับมาใช้ชีวิตปกติของประชาชน