เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 พ.ย. ที่กระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เยี่ยมชมการจัดนิทรรศการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่บริเวณลานหน้าทางขึ้นห้องสุรศักดิ์มนตรี และภายในห้องสุรศักดิ์มนตรี ในศาลาว่าการกลาโหม โดยมี พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) รวมทั้ง ผู้บัญชาการทั้ง 3 เหล่าทัพ ประกอบด้วย พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ในสังกัดกระทรวงกลาโหม ร่วมชมนิทรรศการด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ พล.อ.วัฒนา ฉัตรรัตนแสง ผู้อำนวยการศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร (ผอ.ศอพท.) ได้ชี้แจงถึงแผนงานที่สำคัญด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่จะเร่งรัด เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในด้านการพัฒนางานวิจัยให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายสู่ตลาดโลกได้จริง จำนวน 3 แผนงาน ประกอบด้วย 1.การสร้างช่องทางการขายไปต่างประเทศ ด้วยการจับคู่ธุรกิจ ปัจจุบันโรงงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมงานกับผู้ประกอบการภาคเอกชนไทย เพื่อวิจัยและส่งออก ไนโตรเซลลูโลส ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่ใช้ในการผลิตดินส่งกระสุน โดยปี 2568 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 36 ล้านบาท และอีกช่องทางหนึ่งคือการส่งออกผ่านบริษัทร่วมทุน ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศกับภาคเอกชน
อีกทั้ง 2.การปรับปรุงขั้นตอนการส่งออก ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงานผลิตอาวุธของเอกชน พ.ศ. 2550 จากเดิมที่เป็นการขออนุญาตเป็นรายครั้ง ซึ่งใช้ระยะเวลา 81 วันทำการ เป็นการขออนุญาตแบบโควตาล่วงหน้ารายปี และเมื่อผู้ประกอบการได้รับใบสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศ จะสามารถยื่นคำขอรับหนังสืออนุญาตส่งออกต่อ รมว.กลาโหม ทำให้ระยะเวลาการขออนุญาตลดลง เหลือ 30 วันทำการ และ 3.การจัดทำระบบประเมินมูลค่าการผลิต และมูลค่าการส่งออก ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อประเมินว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ ผ่านมาตรการต่างๆ กิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย คิดเป็นมูลค่าการผลิตและมูลค่าการส่งออกเท่าไหร่ เอกชนไทยเติบโตขึ้นจริงหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับผลงานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่นำมาจัดแสดง ประกอบด้วย โครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องยิงลูกระเบิด 120 11 มิลลิเมตร เอ็ม132 เอ1 แบบอัตราจรล้อยาง วิจัยโดย ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนเครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด 120 มิลลิเมตร เอ็ม132 เอ1 แบบลากจูง, ปืนเล็กยาว ขนาด 5.56 มิลลิเมตร คชสีห์ งานวิจัยปืนพก ขนาด 11 มิลลิเมตร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผลงานจากโรงงานวัตถุระเบิดทหาร กรมการอุตสาหกรรมทหาร ซึ่งมีขีดความสามารถในการผลิตดินส่งกระสุน ผลิตกระสุนปืนครบนัด ทั้งกระสุนปืนเล็ก กระสุนปืนพก และกระสุนปืนลูกซอง เพื่อสนับสนุนเหล่าทัพ และจำหน่ายแก่ภาคเอกชน รวมถึงโครงการขยายขีดความสามารถในการผลิตดินส่งกระสุนฐานคู่แบบเม็ดกลม
ทั้งนี้ สำหรับโรงงานแบตเตอรี่ทหาร สามารถผลิตแบตเตอรี่แบบตะกั่วกรด 4 ชนิด ได้แก่ แบตเตอรี่ทางยุทธการ แบตเตอรี่ทางธุรการ แบตเตอรี่รถไฟ และแบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ โรงงานเภสัชกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร จัดจำหน่ายกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อความมั่นคงของชาติ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข กรมการพลังงานทหาร ประเมินศักยภาพและแนวทางการพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียม รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการกลั่นน้ำมันดิบ และการดำเนินงานด้านพลังงานทดแทนกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม วางแผนให้เป็นหน่วยงานด้านการลงทุน (พีเอ็มยู) เกี่ยวกับโครงการความมั่นคงของประเทศ.