เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรฯ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมส่งมอบสัตว์ป่าของกลาง 961 ตัว ให้แก่นายแม็กซ์ อันโดนิรินา ฟอนเทน รมว.สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน สาธารณรัฐมาดากัสการ์

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า สำหรับสัตว์ป่าของกลางที่จะส่งคืนในครั้งนี้ เป็นสัตว์ป่าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับมอบจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ซึ่งเป็นปฏิบัติการตรวจยึดสัตว์ป่าของกลางจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยจับกุมได้ที่ จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 รวม 1,117 ตัว/ซาก เป็นสัตว์ป่ามีชีวิต 1,109 ตัว ซากสัตว์ 8 ซาก ประกอบด้วย ลีเมอร์หางวงแหวน มีชีวิตจำนวน 16 ตัว ลีเมอร์สีน้ำตาล มีชีวิต 32 ตัว เต่าแมงมุม มีชีวิต 877 ตัว ซาก 6 ซาก และเต่าลายรัศมี มีชีวิต 184 ตัว ซาก 2 ซาก หลังการจับกุมกรมอุทยานฯ ได้นำสัตว์ป่ามีชีวิตไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี โดยดูแลตามหลักวิชาการ ตรวจสุขภาพ พร้อมจัดทำประวัติ และฝังไมโครชิปเพื่อระบุตัวตน ส่วนซากสัตว์ป่าได้ทำลายตามหลักวิชาการ

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า จากนั้นสาธารณรัฐมาดากัสการ์ ได้ประสานงานขอข้อมูลคดี และขอความอนุเคราะห์ขอคืนลีเมอร์และเต่าบก เนื่องจากสัตว์ป่าทั้ง 4 ชนิดนี้ เป็นชนิดเฉพาะถิ่น (Endemic species) ที่พบตามธรรมชาติเฉพาะในมาดากัสการ์ มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญาไซเตส โดยไทยยินดีส่งคืนสัตว์ป่าของกลางทั้งหมดรวม 961 ตัว เป็น ลีเมอร์หางวงแหวน 16 ตัว ลีเมอร์สีน้ำตาล 31 ตัว เต่าแมงมุม 759 ตัว และเต่าลายรัศมี 155 ตัว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสัตว์ป่ามีจำนวนมากทำให้ไม่สามารถขนส่งพร้อมกันได้ในคราวเดียว จึงได้กำหนดแบ่งการขนส่งออกเป็น 3 รอบ โดยรอบแรกเริ่มวันที่ 28 พ.ย. 2567 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ขณะที่นายแม็ก อันโดนิรินา ฟอนแทน กล่าวว่า การลักลอบค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อันดับ 1 จะเป็นพวกเต่า รองลงมาจะเป็นพวกพันธุ์พืช ในส่วนของคดีครั้งนี้ มีผู้ต้องหาที่เป็นชาวมาดากัสการ์ทั้งหมด 18 คน โดยขณะนี้ศาลได้สั่งจำคุกไปแล้ว 9 คน ส่วนอีก 9 คน อยู่ระหว่างการสืบสวน และในช่วงสัปดาห์หน้าจะมีตัวแทนมาดากัสการ์ร่วมประชุมกับทางประเทศไทย เพื่อทำการสอบสวนเพิ่มเติม เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่อาชญากรรมของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ดังนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งการดำเนินคดีมันเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดข้อหาฉ้อโกง ฟอกเงิน และการลักลอบค้าสัตว์ป่าด้วย

นายแม็ก อันโดนิรินา ฟอนแทน กล่าวว่า ทั้งนี้ลีเมอร์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับไพรเมตหรือลิง ที่เชื่อมโยงกับมนุษย์ แล้วมีความหลากหลายทางชีวภาพ พบที่มาดากัสการ์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น หากเกิดความสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพในมาดากัสการ์ ก็หมายความว่าโลกทั้งใบก็อาจจะได้รับผลกระทบด้วย ฉะนั้นจะต้องมีการอนุรักษ์อย่างเข้มข้น ส่วนสัตว์ป่าของกลางที่ได้รับคืนเหล่านี้ จะนำสถานกักกันโรคก่อน และนำไปดูแลเพื่อส่งคืนกลับสู่ธรรมชาติต่อไป

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า เส้นทางการลักลอบค้าสัตว์ป่านี้ ถือว่าเป็นเส้นทางประจำก็ว่าได้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงในการลักลอกค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ซึ่งต้องขอบคุณ เครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าแห่งประเทศไทย (Thailand Wildlife Enforcement Network: Thailand-WEN) เพราะว่าเรามีความร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมอุทยานฯ กรมศุลกากร รวถึงองค์กรต่างประเทศที่เข้ามาช่วยสนับสนุน ล่าสุดได้มีการพูดคุยกับอัยการเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องคดีที่จะต้องมีการขยายผลการไปถึงความผิดในเรื่องการฟอกเงินที่เป็นมูลฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าด้วย ซึ่งทางอัยการเจ้าของคดีได้เดินทางไปติดตามคดีถึงที่มาดากัสการ์ด้วย ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับองค์กรนานาชาติภายใต้อนุสัญญาไซเตส โดยเราต้องพยายามหาหลักฐานให้ได้มากที่สุดในการนำไปสู่บุคคลที่อยู่เบื้องหลัง บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการนำเคลื่อนที่ หรือบุคคลที่เป็นผู้สั่งซื้อออร์เดอร์นำเข้ามา

นายอรรถพล กล่าวว่า ทั้งนี้สำหรับลีเมอร์นั้น เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่พบในมาดากัสการ์ที่เดียวในโลก รวมถึงเต่าดาวรัศมี และเต่าแมงมุมด้วย จึงมีราคาแพงเพราะหายาก เป็นที่ต้องการของท้องตลาด คนนิยมนำมาเลี้ยง ทำให้มีมูลค่าสูง โดยบางตัวมีมูลค่าสูงถึง 3 แสนบาท เต่าแมงมุม 5 หมื่น-1 แสนบาท และเต่าลายรัศมีราคา 8 หมื่น-1 แสนบาท แล้วแต่ขนาด ซึ่งเราต้องระมัดระวังให้มากขึ้น ส่วนปลายทางของการลักลอบค้าสัตว์ป่าครั้งนี้ มีทั้งส่วนที่อยู่ในไทย และส่วนที่จะส่งออกไปต่างประเทศ คือไทยเป็นทั้งทางผ่านและเป็นทั้งจุดในการปล่อยสินค้าด้วย โดยปลายทางส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียด้วยกัน.