ถือเป็นการจัดวาระการประชุมที่น่าสนใจ หลังมีข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 29 พ.ย.นี้ จะมีวาระที่น่าสนใจนอกเหนือจากวาระที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีมติเห็นชอบเงินช่วยเหลือชาวนา ช่วยค่าเก็บเกี่ยวและปัจจัยการผลิตข้าว เป็นเงินไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 10,000 บาท วงเงินงบประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท และวาระที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เตรียมเสนอขออนุมัติงบกลาง เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมโครงการและฟื้นฟูโครงการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จำนวน 564 ราย วงเงิน 2.9 พันล้านบาทแล้ว
นอกจากนี้ยังมีวาระสำคัญที่จะเข้าสู่การพิจารณา โดยกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอขอความเห็นชอบนโยบายรัฐบาล เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินดิจิทัลเฟส 2 ให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 3-4 ล้านคน ซึ่งวางไว้ให้สามารถใช้จ่ายได้ก่อนช่วงตรุษจีนปี 68 ทั้งนี้ สำหรับ จ.เชียงใหม่ ถือเป็นบ้านเกิดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ บิดาของ น.ส.แพทองธาร และเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย(พท.) ด้วย
ก่อนหน้านั้นก็มีเสียงวิจารณ์จากนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่า การกำหนดเงื่อนเวลาในการแจกเงินหมื่นเฟสสอง อยู่ใกล้ช่วงการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ก.พ. เพื่อหวังทางการเมืองหรือไม่ แม้จะมีคำชี้แจงฝ่ายรัฐบาล เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชน
ขณะที่ประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ(รธน.) ยังถูกมองว่า ไม่รู้บทสรุปจะจบลงอย่างไร โดย “นายนิกร จำนง” ผู้อำนวยการชาติพัฒนา (ชทพ.) ให้ความเห็นความพยายามตีความการทำประชามติแก้รธน. ที่ระบุว่าสามารถจัดทำประชามติ 2 ครั้งว่า ในฐานะที่เคยเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาร่างรธน. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) มองว่าตามคำวินิจฉัยของศาลรธน. เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารธน.ออกเสียงประชามติ ก่อนว่าจะต้องการให้มีฉบับใหม่หรือไม่ และระบุว่าเมื่อจัดทำรธน.ฉบับใหม่เสร็จ ต้องส่งให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้ง ดังนั้นการทำตามคำวินิจฉัย จำเป็นต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนการเสนอแก้ไขรธน. ดังนั้นการแก้ไขรธน.ต้องทำประชามติ รวม 3 ครั้ง โดยไม่มีทางใดให้เลี่ยงได้
ส่วนการเข้าพบประธานรัฐสภาของคณะกมธ. พัฒนาการเมืองฯ ไม่มีผลให้ลดจำนวนทำประชามติ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรธน.มีผลผูกผันต่อรัฐสภา การไปเรียกร้องบังคับให้ประธานรัฐสภาบรรจุวาระให้ได้นั้น ประธานรัฐสภาอาจถูกร้องได้ว่ากระทำขัดหรือแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรธน. ที่ไม่มีใครรับผิดแทนประธานรัฐสภาได้
นายนิกร กล่าวด้วยว่า หากมีการบรรจุเนื้อหาและฝืนพิจารณา ขอให้คำนึงถึงเหตุการณ์ระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรธน.เมื่อปี 2564 ที่ สว.กังวลกับการลงคะแนนเห็นชอบใน วาระ3 ด้วยเกรงว่าจะเป็นการกระทำที่ขัดรธน. แต่ในครั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า จะมีปัญหาตั้งแต่การลงคะแนนเห็นชอบ ในวาระแรกชั้นรับหลักการได้ และหากการแก้ไขรธน.มาตรา 256ไม่สำเร็จ ต้องกลับไปนับหนึ่งในสมัยประชุมถัดไป ทั้งที่เวลาการพิจารณาของรัฐสภาเหลือไม่มาก
“ภารกิจการจัดทำรธน.ฉบับประชาชนใหม่ขึ้นให้สำเร็จ จำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดการประนีประนอมร่วมกัน เพราะถ้าทำขั้นตอนใดผิดพลาดล้มเหลว แทนที่จะเร็วขึ้นกลับจะกลายเป็นช้าลงไปอีกมาก เหมือนที่เป็นมาให้เห็นๆ กันว่าจะไม่ทันการอยู่แล้ว แม้จะมีการลดธงเป้าหมายให้เหลือเพียงแค่ให้ได้แค่สภาร่างรธน.(สสร.) ก็ตาม” นายนิกร กล่าว
ส่วน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานกมธ.พัฒนาการเมืองฯ เข้าพบนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพื่อหารือถึงการผลักดันการบรรจุร่างแก้ไขรธน.มาตรา256 ให้มีสสร. มายกร่างรธน.ฉบับใหม่ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง หลังประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรธน. มาตรา256 ของพรรคก้าวไกล(ก.ก. ) โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรธน.ให้ทำประชามติสอบถาม ความเห็นประชาชนก่อนแก้รธน. ภายหลังการเข้าพบนายพริษฐ์ กล่าวว่า ได้นำข้อมูลเพิ่มเติม 2อย่างมาคือ 1.คำวินิจฉัยส่วนตัวตุลาการศาลรธน. ทั้ง 9คน ที่มีการระบุชัดเจนว่า ทำประชามติ 2ครั้งก็เพียงพอ 2.ข้อมูลที่กมธ.พัฒนาการเมืองฯเข้าพบประธานศาลรธน. เพื่อเป็นข้อมูลใหม่ ในการพิจารณาบรรจุร่างแก้ไขรธน.มาตรา256 โดยตั้งสสร. เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง โดยหวังว่า ข้อมูลใหม่ทั้ง 2อย่าง จะเพียงพอให้คณะกรรมการประสานงานฯ วินิจฉัยว่า ทำประชามติแค่ 2 ครั้งก็เพียงพอ
ด้าน ว่าที่ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาฯกล่าวว่า ในฐานะประธานกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา วินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อได้ข้อมูลใหม่ที่กมธ.พัฒนาการเมืองฯยื่นต่อประธานรัฐสภาแล้ว จะนำไปประกอบคำวินิจฉัย เพื่อพิจารณาว่าจะกลับมติ ที่เคยให้ความเห็นไม่บรรจุวาระการแก้รธน. มาตรา256 โดยการตั้งสสร.มายกร่างรธน.หรือไม่ อาจเรียกนายพริษฐ์ มาให้ข้อมูลเพื่อพิจารณาทบทวนความเห็น แม้คำวินิจฉัยที่เป็นความเห็นของตุลาการรธน. รายบุคคล จะไม่มีผลทางกฎหมาย เหมือนคำวินิจฉัยกลางศาลรธน. แต่อาจนำมาใช้พิจารณาประกอบแนวทาง คำวินิจฉัยกลางศาลรธน.ว่า จะต้องทำประชามติแก้รธน. 2หรือ3ครั้ง ก็มีโอกาสที่คณะกรรมการประสานงานฯจะกลับมติก่อนหน้านี้ได้ ถ้าข้อมูลใหม่ช่วยให้คำวินิจฉัยกลาง มีความกระจ่างมากขึ้น เพราะเรายึดคำวินิจฉัยกลางเป็นหลัก และใช้คำวินิจฉัยส่วนบุคคลมาประกอบ
ต้องรอดูบทสรุปของกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา วินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร จะตัดสินใจอย่างไรกับการบรรจุวาระการแก้รธน. มาตรา 256 โดยยืนยันยึดคำวินิจฉัยกลางเป็นหลัก
ส่วนปัญหาเรื่องที่ดินเขากระโดง ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งระหว่าง “การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)” และ “กรมที่ดิน” นั้น ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมคณะกมธ.ที่ดินฯ ที่มี “นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชน. ในฐานะประธานกมธ.ฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อหารือปัญหาที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ โดยมีนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการรฟท.เข้าชี้แจงต่อกมธ. โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังการประชุม
ขณะที่”นายทรงศักดิ์” กล่าวในที่ประชุมกมธ.ตอนหนึ่งว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับกมธ.ในการตรวจสอบที่ดินเขากระโดง กรณีดังกล่าวไม่ได้กระทบกับสิทธิคนๆเดียว แต่กระทบทั้งรฟท. และประชาชน เห็นใจประชาชน 900กว่ารายที่ได้ครอบครองที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมายมาตลอด หลายคนเข้าใจว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ที่ดินดังกล่าวเป็นของรฟท.ทั้งหมด แต่จะเป็นที่สุดเฉพาะคู่ความเท่านั้น ส่วนคนอื่นๆที่ไม่ได้เป็นคู่ความต้องมีการพิสูจน์สิทธิในการเพิกถอนเอกสารสิทธิ หากเพิกถอนทั้งหมด จะเป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่
จากนั้น ”นายพูนศักดิ์” แถลงผลการประชุมกมธ.ว่า กมธ.ยังไม่ได้รับคำชี้แจงที่ชัดเจน เรื่องปัญหาที่ดินเขากระโดง จะต้องตรวจสอบเพิ่มหลายประเด็น เช่น กรรมสิทธิ์ที่ดินของรฟท.ที่ไม่มีข้อยุติเรื่องแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฏ.)เวนคืนที่ดิน รฟท.ว่า ครอบคลุมสนามแข่งรถ สนามกีฬาหรือไม่ ขณะที่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 5,000ไร่ ซึ่งมีเอกสารสิทธิและโฉนดที่ดินเขากระโดงที่ภาครัฐออกให้ และมีข้อพิพาทออกโดยชอบหรือไม่นั้น รฟท.และกรมที่ดินยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา กมธ.ขอให้หน่วยงานต่างๆส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ กมธ.ภายใน 15วัน เพื่อตรวจสอบรายละเอียด ก่อนจะลงพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ จากนั้นกมธ.จะนัดประชุมใหญ่อีกครั้ง ช่วงเดือน ม.ค.68 ก่อนสรุปประเด็นจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร แต่เบื้องต้นภาครัฐ ต้องมีมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ด้าน “นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชน. ในฐานะประธานกมธ. ทหาร กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.วันที่ 28พ.ย.นี้ กมธ.จะเชิญผู้ว่ารฟท. ผวจ.บุรีรัมย์ อธิบดีกรมที่ดิน และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่26 (มทบ.26) หรือค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มาชี้แจงกมธ. กรณีการร้องเรียนการก่อสร้างค่ายมทบ.26 อาจก่อสร้างผิดที่ จากที่ขออนุญาตไว้เมื่อปี 2521 เพราะสถานที่เดิมที่จะก่อสร้างเป็นข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง มีบุคคลอ้างว่าซื้อมาจากตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่ง แล้วมีการไปฟ้องร้องรฟท. จนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าเป็นที่ดินรฟท. ที่ดินบริเวณนั้น ควรเป็นที่ตั้งค่าย มทบ.26ในปัจจุบัน แต่เหตุใดค่ายมทบ.26 จึงไปอยู่อีกที่หนึ่ง ห่างจากพื้นที่ขออนุญาต 2กิโลเมตร สงสัยที่ดินแปลงนั้น เป็นที่ทรงอิทธิพลขนาดค่ายทหารยอมย้ายค่ายหนีจริงหรือไม่
น่าสังเกต กมธ.ที่มาจับประเด็นในเรื่องนี้ จะเป็นกมธ.ที่มีตัวแทนจากพรรคปชน.เป็นประธาน คำถามคือ หวังผลทางการเมือง หรือต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริง งานนี้รอดูบทสรุปของกมธ.ที่จะเข้ามาตรวจสอบ ข้อเท็จจริงที่ได้จะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาหรือไม่.
“ทีมข่าวการเมือง”