เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปรัชญา ศรีบวรนรา ตัวแทนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองคลองหลวง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พร้อมผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 50 คน เขายื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อติดตามกรณีครั้งก่อนหน้านี้ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานต่อ กกต.ปทุมธานี ขอให้ตรวจสอบเอกสารแนะนำตัวของผู้สมัครนายกเทศมนตรีเมืองคลองหลวงรายหนึ่ง ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2567 ว่าเข้าข่ายหลอกลวงเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งหรือไม่
นายปรัชญา กล่าวว่า ผู้สมัครนายกเทศมนตรีคลองหลวงรายนี้ ได้ระบุประสบการณ์การทำงานในเอกสารแนะนำตัว ที่แจกจ่ายให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อประชาสัมพันธ์ตนเองว่า เป็นอดีตคณะที่ปรึกษา รมช.เกษตรและสหกรณ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการติดตามตรวจสอบนโยบายของนายกเทศมนตรีเมืองท่าโขลง และอดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามตรวจสอบนโยบายของนายกอบต.คลองสาม เราสงสัยว่าการได้มาของตำแหน่งนั้น เป็นไปตามกฎหมายระเบียบใด มีการเข้าสู่ตำแหน่งเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้แต่งตั้งและมีอำนาจหน้าที่อย่างไร เป็นไปตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับของทางราชการหรือไม่ เพราะหากไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย การแนะนำตัวเช่นนี้จะเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อ เพื่อหวังคะแนนเสียง
นายปรัชญา กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เราได้ไปยื่นเรื่องต่อ กกต.ปทุมธานีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ หรือมีการเรียกพวกเราไปให้ถ้อยคำก็ไม่มี ซึ่งก็ทราบมาว่า ขณะก่อนเลือกตั้งวันที่ 17 พ.ย. 2567 ก็มีผู้ยื่นร้องต่อ กกต.จ.ปทุมธานี ในทำนองเดียวกันนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จาก กกต.ปทุมธานี เราก็กลัวว่าเรื่องจะเงียบหายไป ประกอบกับมีข่าวว่ามีนักการเมืองใหญ่ในจังหวัด พยายามที่จะช่วยเหลือผู้สมัครรายนี้ให้รอผลจากการตรวจสอบและพยายามที่จะให้มีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งโดยเร็ว จึงเกรงว่าจะไม่ได้รับการตอบสนองในการพิจารณาในเรื่องนี้ และเรื่องก็จะเงียบหายไป หรือถูกบิดเบือนข้อเท็จจริง จึงต้องมายื่นร้อง กกต.ให้พิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส เชื่อว่า กกต.มีความเป็นมืออาชีพ และจะรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย
ด้านผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายหนึ่ง กล่าวว่า นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังต้องการให้ กกต.ตรวจสอบพฤติการณ์ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งของผู้สมัครนายกเทศมนตรีเมืองคลองหลวงรายหนึ่ง ที่ในวันเลือกตั้งได้มีการแจกน้ำดื่มให้กับผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งบริเวณหน่วยเลือกตั้งที่ 5 เขตเลือกตั้งที่ 2 ว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ และมีผลให้การเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งดังกล่าวไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองคลองหลวงเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2567 เป็นการเลือกแทนตำแหน่งที่ว่าง หลังกระทรวงมหาดไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย มีคำสั่งให้ นายเอกพจน์ ปานแย้ม พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองคลองหลวงนับแต่วันที่ 25 ก.ย. 2567 ซึ่งการเลือกตั้งมีผู้สมัคร 3 ราย ประกอบด้วยหมายเลข 1 นายยุทธศักดิ์ ชูประเสริฐ จากทีมงานยุทธศักดิ์พัฒนา หมายเลข 2 นายประพัฒน์ น้อยรอด จากทีมงานเพื่อนเอกพจน์ และ หมายเลข 3 นายสถาพร งามฉวี จากทีมงานเพื่อนเอกพจน์ ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้ง นายยุทธศักดิ์ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยได้คะแนน 15,260 คะแนน ตามมาด้วยนายประพัฒน์ได้คะแนน 13,633 คะแนน และนายสถาพรได้คะแนน 374 คะแนน.