เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกทม. ครั้งที่ 1/2564 เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มักจะเกิดในช่วงความกดอากาศสูง ประมาณปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดไป โดยมี พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกทม. หน่วยงานในสังกัดกทม. ผู้แทนหน่วยงานภายนอก อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมการขนส่งทางบก กองบังคับการตำรวจจราจร และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5

ที่ประชุมได้พิจารณาร่างแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กทม. ปี 2565 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามร่างแผนที่เคยดำเนินการในปี 2564 พร้อมทั้งให้มีการปรับปรุงการดำเนินการบางส่วนเพิ่มเติมตามที่หน่วยงานต่างๆ ได้เสนอมา เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การตั้งจุดตรวจวัดความดันเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มความถี่ในการตรวจวัดควันดำ การกำหนดช่วงเวลาห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ เป็นต้น นอกจากนี้ที่ประชุมได้แนะนำให้กทม. ติดตั้งเครื่องวัดความเร็วลมในจุดต่างๆ และนำวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคาดการณ์การเกิดฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้าได้ รวมถึงสามารถวางแผนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ เนื่องจากกทม. ไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพังต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงจะสำเร็จได้ และอาจจะมีการหารือร่วมกับจังหวัดปริมณฑลเพิ่มเติมด้วย เพราะมีพื้นที่ติดกันหากพื้นที่ไหนมีฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นสามารถส่งผลกระทบกับพื้นที่ใกล้เคียงได้ นอกจากนี้ กทม.ยังจะต้องเตรียมการในเรื่องของการล้างถนนด้วย ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการล้างถนนด้วยดี ซึ่งยังคงต้องร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป

พร้อมทั้งหาแนวทางในการคาดการณ์การเกิดฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้า 7 วัน หรือ 3 วันได้ เพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้าได้ สำหรับการติดตั้งเครื่องวัดความเร็วลมและนำ AI มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นฯ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น ถือเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาหารือแนวทางดำเนินการต่อไปว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง สามารถประสานหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาใดมาร่วมกันดำเนินการบ้าง