จากกรณีเกิดเหตุ “ทรัส” หรือ “Launching Truss” ตัวยกแผ่นปูนที่ใช้สร้างทางยกระดับถนนพระรามสอง 2 ขาออก อยู่ในช่วงระหว่างก่อสร้าง ได้พังถล่มลงมา ทำให้คนงานบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย บริเวณหน้าสยามนิสสันสมุทรสาคร สาขามหาชัยเมืองใหม่ ต.คอกกระบือ อ.เมืองสมุทรสาคร เหตุเกิดช่วงเช้ามืดของวันนี้ (29 พ.ย. 67)
สลดรับอรุณ! สังเวย 3 ศพ เจ็บนับสิบ คานเหล็กก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ถล่ม
วันนี้เดลินิวส์ออนไลน์จะพาทุกคนไปรู้จัก “ทรัส” หรือที่สายก่อสร้างรู้จักกันในนาม “Launching truss” กัน
สำหรับ “ทรัส” หรือ “Launching Truss” และอีกหลายๆ ชื่อที่เราคุ้นเคย คือ “Launching Girder” หรือ “Beam launcher” ซึ่งใช้เป็นอุปกรณ์ในการติดตั้งคานสะพานด้วยโครงเหล็กเลื่อน ของการก่อสร้างสะพานด้วยวิธีแบบก่อสร้างทีละช่วง โดยที่โครงสร้างส่วนบน ใช้รูปแบบคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง แบ่งเป็นหลายชิ้นใน 1 span
โดยส่วนประกอบของเครื่องจักร “Launching truss” และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง
1. ฐานรองรับน้ำหนัก ใช้เพื่อรับ “Main truss”
2. ฐานรองรับน้ำหนักชั่วคราว ใช้สำหรับรับน้ำหนัก “Main truss” เช่นกัน แต่เป็นแบบชั่วคราวในบางช่วงเวลาเท่านั้น โดยมีอยู่ 2 ตัวที่ด้านหน้าและหลัง สามารถยืดหรือหดได้ด้วยระบบเกลียวหมุน
3. ชิ้นส่วนแบบโครงหักฉาก ใช้ติดตั้งบนเสาที่มีจุดรองรับน้ำหนักแบบ “Pot bearing” เพื่อปรับระดับจากหัวเสาขึ้นมาให้อยู่ในระดับเดียวกันกับระดับของชิ้นส่วน “Pier segment” โดยเมื่อเลื่อนเครื่องจักรไปข้างหน้าแล้ว จะทำให้ได้ระดับความสูงเท่ากัน
4. ค้ำยันหัวเสา ใช้เพื่อถ่ายน้ำหนักชั่วคราวของปลาย “Main truss” ผ่านขาค้ำหน้าในขณะที่ “Main truss” มีการยื่นปลายด้านหนึ่งออกไปข้างหน้ามาก
5. รอกไฟฟ้า ควบคุมการสั่งงานด้วยรีโมต ใช้สำหรับยกชิ้นส่วนคานขึ้นมาอยู่ในระดับการติดตั้ง และเลื่อนชิ้นส่วนให้เข้าชิดติดกันตามตำแหน่งแหน่งที่ระบุในแบบ
6. ชุดแขวนชิ้นส่วนสำเร็จ ประกอบด้วยเส้นลวดสลิงขนาดใหญ่ ที่ใช้สำหรับแขวนชิ้นส่วนสำเร็จทั้งหมด ให้ลอยอยู่ในระดับที่ต้องการติดตั้ง
7. กระบวนการตรวจวัดงานสำรวจ เมื่อแขวนชิ้นส่วนสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยตลอดทั้งช่วงสะพานแล้ว ต้องทำการสอบวัดค่าระดับและแนวอย่างละเอียดอีกครั้ง ด้วยการยืดฐานรองรับหลักขึ้น หรือลงเพื่อปรับระดับของช่วงสะพานขึ้นหรือลง และปรับระนาบของชิ้นส่วนทั้งหมด
8. กระบวนการเชื่อมรอยต่อ ระหว่างชิ้นส่วนที่อยู่ชิดเสา กับชิ้นส่วน “Pier segment” ที่วางอยู่บนหัวเสา
9. การติดตั้งกระเช้าสำหรับงานดึงลวดอัดแรง เนื่องจากการร้อยและดึงลวดอัดแรงจะกระทำ ที่ช่วงปลายสะพานทางวิ่งซึ่งเป็นพื้นที่โล่งกลางอากาศ ดังนั้น กระเช้าจึงใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อให้คนงาน มีพื้นที่ยืนปฏิบัติงานดึงลวดอัดแรงได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
10. กระบวนการขนส่งอุปกรณ์ช่วยในการยกติดตั้งกลับคืนโรงงาน เมื่อกระบวนการติดตั้งเสร็จสิ้นแล้ว ต้องทำการปลดวัสดุอุปกรณ์ช่วยยกที่ติดมาพร้อมกับชิ้นส่วนสำเร็จส่งกลับคืนโรงงาน เพื่อจะได้นำไปใช้ติดตั้งเข้ากับชิ้นส่วนสำเร็จของช่วงเสาอื่นๆ ต่อไป
ขอบคุณข้อมูล : Safety จป.เซราะกราว