ผู้สื่อข่าวรายว่า ที่ชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ ต.บ้านปรก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรม จ.สมุทรสงคราม และมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงาน Made in Samut Songkhram ภายใต้โครงการ Thailand Culture 21 Best Practice และงาน “ศาสตร์ศิลป์ ถิ่นวัฒนธรรม สมุทรสงคราม” วันที่ 29-30 พ.ย.67 โดยนายรนัสถ์ชัย พุ่มเจริญ รอง ผวจ.สมุทรสงครามเป็นประธานเปิดงาน มี น.ส.มรกต งามภักดี ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมเครือข่ายท้องถิ่นและชุมชน กองกิจการเครือข่ายทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม นางถิรดา เอกแก้วนำชัย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และตัวแทนภาครัฐ เอกชน ประชาชน และนักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม

นางยลกานต์ เที่ยงแท้ ผอ.กลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม รักษาราชการแทนวัฒนธรรม จ.สมุทรสงครามกล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า จากการที่ประเทศไทยมีนโยบายขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม และทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นสินค้าและการบริการทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพของไทยจาก 5F สู่ 5F+ บทบาทของวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในหลายมิติ เช่น ศิลปวัฒนธรรม อาหาร ดนตรี กีฬา การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนาเมือง พื้นที่ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม การพัฒนาสินค้าชุมชน โดยบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน ประชาชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อส่งเสริมการนำอัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรมของชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนมาต่อยอดเพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่า ซึ่ง จ.สมุทรสงคราม และ จ.ภูเก็ต ได้รับคัดเลือกเป็นสองเมืองแรกของประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการ Thailand Culture 21 Best Practice ในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมตามแนวทาง Culture 21 เพื่อส่งประกวดรางวัลระดับโลก International Award UCLG – Culture 21 ซึ่งเป็นรางวัลด้านความเป็นเลิศในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมในฐานะมิติแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในท้องถิ่น

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดงาน Made in Samut Songkhram ภายใต้โครงการ Thailand Culture 21 Best Practice โดยนำเสนอ จ.สมุทรสงครามเป็นเมืองต้นแบบโดยใช้พื้นที่ชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจพัฒนาเมืองด้วยมิติวัฒนธรรมที่ผ่านการปรับใช้พื้นที่ตามแนวทางการพัฒนาในระยะสั้น ด้วยแนวคิด Culture21+ ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งรางวัลดังกล่าวนอกจากจะสร้างการยอมรับในระดับสากล การสนับสนุนทางด้านทรัพยากรและการเงินแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ชุมชน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนพร้อมรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนานให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าและอยากพัฒนาต่อยอดในทุกมิติอย่างยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมประกอบด้วย การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นการเสวนาวัฒนธรรม แบ่งปันเรื่องราวท้องถิ่นการเกษตรแบบผสมผสานและการอนุรักษ์การเรียนรู้สร้างสรรค์ร่วมกับศิลปินท้องถิ่น นิทรรศการศิลปะและภาพถ่าย ถ่ายทอดเรื่องราววัฒนธรรม และ Samut Songkhram Taste Experience เมนูอาหารท้องถิ่นผ่านนิทรรศการอาหารและมื้ออาหารพิเศษ วัตถุดิบจากฟาร์มท้องถิ่น โดยเชฟท้องถิ่นและเชฟรุ่นใหม่ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่แสดงออกซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่นของ จ.สมุทรสงครามมากมายได้แก่ การทำขนมต้มและลูกชุบ การสาธิตทำน้ำตาลมะพร้าวแท้ และศิลปหัตถกรรมผ้ามัดย้อม เป็นต้น

สำหรับงาน “ศาสตร์ศิลป์ ถิ่นวัฒนธรรม สมุทรสงคราม” เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจปักหมุดประเทศไทยเพื่อแสดงจุดยืนบนเวทีโลก Culture 21 พัฒนาเมืองด้วยมิติวัฒนธรรมพร้อมนำเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน ซึ่งสํานักงานบริการวิชาการ โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร แพลตฟอร์ม Roaming Elephants ร่วมกับ The World Organization of United Cities and Local Governments (UCLG) จัดทำโครงการ Thailand Culture 21 best practice ภายใต้การสนับสนุนหลักจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาต้นแบบแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม Thailand Culture 21 best practice ตามแนวทาง Culture 21 และส่งเข้าประกวดรางวัลระดับโลก International Award UCLG – Culture 21 ซึ่งเป็นรางวัลด้านวัฒนธรรมระดับโลกที่ยกย่องเมืองและบุคคลที่มีความเป็นเลิศในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมในฐานะมิติแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในท้องถิ่นในปี 2025 ต่อไป
ส่วน “รางวัล UCLG-CULTURE 21 International Award” จัดขึ้นเพื่อยกย่องโครงการและนโยบายทางวัฒนธรรมที่นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน การได้รับรางวัลดังกล่าวนอกจากจะเป็นการแสดงจุดยืนการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนโดยใช้มิติด้านวัฒนธรรมตามหลักสากลที่มุ่งให้เห็นความตั้งใจในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้คน แล้ว รางวัลนี้ยังเป็นใบเบิกทางสู่ตลาดการค้ากับภาคเอกชนทั่วโลก ตามกรอบแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) อีกด้วย


