วันที่ 29 พ.ย. ที่ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คาม. อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ภายใต้แนวคิด “From Flood to Flourish (ฟื้นคืนสู่ความเฟื่องฟู)” สื่อว่า การจัด ครม.สัญจรที่เชียงใหม่ครั้งนี้จะเป็นแสงสว่างที่จะช่วยสร้างความเฟื่องฟูให้กับชาวเชียงใหม่อีกครั้ง หลังผ่านพ้นกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ และพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาว
นายกฯ พาครอบครัวมาด้วย โดยบอกว่า ต้องการให้เห็นว่าแม่ทำงานอย่างไร เมื่อชมนิทรรศการเสร็จก็พาลูกกลับ ซึ่งระหว่างที่ นายกฯอิ๊งค์เยี่ยมชมบูธกาแฟเทพเสด็จ ซึ่งนำผลิตภัณฑ์กาแฟและส้มสายน้ำผึ้งจากไร่ธนาธรมาจัดแสดง ได้แซวคนขายอย่างอารมณ์ดีว่า“มีส้มธนาธรแล้วมีส้มปิยะบุตรหรือเปล่า”
ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่อง MOU44 ที่จะจุดประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมาอีก จนถึงขั้นมีการชุมนุม นายกฯอิ๊งค์ กล่าวว่า สิ่งที่เดินหน้าขณะนี้มีเรื่องเดียวคือการตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (JTC) เพื่อเจรจาระหว่างสองประเทศ จะเดินต่อหรือไม่ขอให้ผ่านการพูดคุยกันระหว่าง 2 ประเทศ
“เราสามารถยกเลิก MOU44 ได้ตามกฎหมาย แต่ถามว่าเราควรยกเลิกฝ่ายเดียวหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ขอให้คุยกันก่อนดีกว่าเพราะเรื่องนี้อ่อนไหว เราพยายามไม่ให้คนในประเทศของเราเข้าใจผิดในเรื่องอะไรก็ตาม”นายกฯ กล่าว ผู้สื่อข่าวจึงถามต่อว่า มองว่าในการเคลื่อนไหว มีอะไรนอกเหนือจากเรื่อง MOU 44 ซ่อนอยู่ในนั้นหรือไม่นายกฯ นิ่งคิดก่อนกล่าวว่า “ก็อาจจะเป็นประเด็นทางการเมืองหรือเปล่า แต่เรื่องระหว่างประเทศเป็นเรื่องอ่อนไหว เพราะคำพูดของนายกฯ หรือของรมว.ต่างประเทศสื่อสารออกไปแล้ว ประเทศอื่นๆ จะรับข้อนั้นเลย”
นายกฯ ขอให้มั่นใจว่า ไทยพยายามสื่อสารด้วยความระมัดระวัง พื้นที่ที่ไทยคุยกันมายังคงเป็นพื้นที่อ้างสิทธิ์ ยังไม่มีการเคาะอะไรทั้งสิ้น ไทยและกัมพูชายังไม่มีใครเสียผลประโยชน์อะไรในตอนนี้ ขอให้มั่นใจว่า ว่าตนเองเกิดในแผ่นดินนี้ไม่มีทางที่จะเห็นที่ไหนดีกว่าบ้านเรา อย่าเอาเรื่องของกระแสหรือความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศของเรา มาทำให้เป็นประเด็นที่จะกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ
นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แถลงว่า กรณี MOU44 ที่ถูกตีประเด็นว่า ทำให้ไทยเสียดินแดน ขอเรียกร้องให้ใช้กลไกของรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เพื่อเปิดประชุมรัฐสภาให้ สส.ฝ่ายรัฐบาล สส.ฝ่ายค้าน และสว. ได้อภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อ ครม. เพื่อลดอุณหภูมิทางการเมือง
ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประธานด้านวิชาการ พรรค พปชร. เปิดเผยว่าแถลงการณ์ร่วมหรือ MOU วันที่ 18 มิ.ย. 2544 ลงนามโดยนายทักษิณ ชินวัตร และ ฮุน เซน อดีตนายกฯกัมพูชา นั้น MOU มีสถานะเป็นสนธิสัญญาครบตามเงื่อนไขของอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ MOU เป็นสนธิสัญญาที่กระทบเขตอำนาจแห่งรัฐ เพราะมีการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมเป็นอาณาเขตเฉพาะ ที่เปลี่ยนแปลงเขตไหล่ทวีปของไทย ตามที่ประกาศเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2516 แต่ไม่ได้เสนอต่อรัฐสภา และไม่ได้ทูลเกล้าฯ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 จึงเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น
“ชายกรณ์”ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค กล่าวว่า พื้นที่ทะเลรอบเกาะกูดของไทยถูกกัมพูชาลากเส้นทับซ้อนตั้งแต่ชายฝั่งไปชนเกาะกูดซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ปรากฏแบบนี้ที่ใดในโลก และขาดการดำเนินการอย่างมีลำดับขั้นตอน คือ 1. ครม.ตั้งคณะเจรจาขึ้นก่อน 2.กรอบการเจรจา คือ กฎหมายทะเลสากล 3.ทำ MOU เพื่อบันทึกผลสำเร็จของการเจรจา4.ประกาศพระบรมราชโองการ รองรับเส้นเขตแดนใหม่ที่เป็นผลของการเจรจา
“MOUไทย-กัมพูชาเกิดขึ้นแบบย้อนเกล็ด คือ เกิด MOU ขึ้นก่อน แล้วอ้างว่า MOU เป็นกรอบการเจรจา และอาจขัดพระบรมราชโองการ เพราะนำเส้นเขตแดนทางทะเลที่ผิดกฎหมายสากลของกัมพูชามาใส่ไว้ในแผนที่แนบท้าย แม้จะเขียนไว้ในข้อ 5 ของ MOU ว่าไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่การรับรู้ถึงเส้นอ้างสิทธิที่ผิดกฎหมาย ก็ถือว่า ขัดกับหลักการเดิมโดยสิ้นเชิง”ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว และว่า ไทยยึดกรอบกฎหมายสากลทางทะเลในการเจรจา แต่กัมพูชาไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายสากลจึงเจรจาไม่ได้ หากไทยอ่อนข้อให้กัมพูชาละเมิดกฎหมาย ไทยมีแต่จะเสียเปรียบ
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ถ้าหากพื้นที่ใต้เส้น 11 องศาเหนือ มีการขุดปิโตรเลียมไทย- กัมพูชา แบ่งเงินค่าภาคหลวงกันคนละคนละครึ่งเมื่อใด ก็ตกลงหลุมพรางทันที กัมพูชาจะเอาหลักฐานการแบ่งค่าภาคหลวงซึ่งถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ขึ้นศาลโลก และแบ่งพื้นที่ใต้เส้น 11 องศาเหนือครึ่งหนึ่ง เรียกว่าเสียทั้งปิโตรเลียมเสียทั้งดินแดน เส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชานั้นนำไปอ้างที่ไหนในโลกไม่ได้เพราะผิดกฎหมายสากล แต่กลับปรากฏขึ้นในเอกสารราชการไทยที่ลงนามโดย รมว.ประเทศและนายกฯ ไทย อาจทำให้กัมพูชานำมาอ้างในอนาคตได้
ขณะที่ “รองอ้วน”ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.กลาโหม บอกว่า ยังไม่ได้ตั้งคณะกรรมการเจรจา ( JTC ) ในการประชุม ครม.นัดนี้ ..MOU44 กลายเป็นวาทกรรมใช้โจมตีทางการเมือง ปลุกประเด็นชาตินิยม ทางออกที่ดีที่สุดคือรัฐบาลต้องเร่งเจรจาให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า “ไทยไม่ได้เสียผลประโยชน์”
สำหรับศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) ที่น่าสนใจ “เลขาบอย”สรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “อดีตนายกฯแม้ว”ทักษิณ ชินวัตร จะลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ไปดูการเลือกนายก อบจ.อุบลราชธานี ตามคำเชิญของนายเกรียง กัลป์ตินันท์ อดีต รมช.มหาดไทย และแกนนำพรรคเพื่อไทย แต่คงไม่ปราศรัย เป็นการไปให้กำลังใจกัน ส่วนเชียงใหม่จะต้องพิจารณาอีกครั้งเพราะพรรคไม่มีมติส่งผู้สมัครลงชิง นายก อบจ.เชียงใหม่ อาจจะมีผู้มีความประสงค์ลงในนามสมาชิกพรรค
ส่วนที่ ศรีสะเกษ มีแนวโน้มว่าตัวผู้สมัครเองก็จะเชิญนายทักษิณไปเป็นผู้ช่วยหาเสียงด้วย ( ผู้สมัครนายก อบจ.ศรีสะเกษ ในนามพรรคเพื่อไทย คาดว่าเป็นนายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ อาจแข่งกับ “นายกส้มเกลี้ยง”นายวิชิต ไตรสรณกุล จากภูมิใจไทย ) เลขาบอย บอกในเชิงสอดรับกับนายประเสริฐ จันทรรวงทอง แกนนำพรรคจากเมืองโคราชว่า ครั้งนี้อาจเป็นการส่งผู้สมัครนายก อบจ.ที่มากที่สุดของเพื่อไทย ซึ่งต้องแข่งขันกันแม้จะต้องชนพรรคร่วมรัฐบาล
วาระ ครม.ที่น่าสนใจ อาทิ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอ ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ( พม.) เสนอปรับฐานกลุ่มเป้าหมายโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรงเกิดจาก 0-6 ปี ในครัวเรือนที่ทีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 จากเดือนละ 600 บาท ปรับให้เป็นเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้าโดยไม่ต้องคัดกรองรายได้ โดยครอบคลุมตั้งแต่ในครรภ์ 4 เดือน
พร้อมปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ จากเดิมอายุ 60-69 ปี เดือนละ 600 เป็น 700 บาท อายุ 70-79 เดือนละ 700 เป็น 850 บาท อายุ 80-89 จากเดือนละ 800 เป็น 1,000 บาท และ อายุ 90 ปีขึ้นไป จากเดือนละ 1,000 เป็น เดือนละ 1250 พร้อมทั้งปรับเบี้ยกลุ่มคนพิการจากเดิม 800-1,000 บาท ปรับเป็น 1,000 ถ้วนหน้า และจะยกระดับแรงงานนอกระบบโดยให้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจแรงงานนอกระบบให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ร่วมถึงสวัสดิ์การครอบครัว ที่ประชุม ครม.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดแล้วนำกลับมาเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบข้อเสนอการปรับอัตราค่าตอบแทนแรกบรรจุและการปรับค่าตอบแทนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ และเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของพนักงานราชการ ผู้เสนอคือ คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) คาดว่าจะใช้งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 2,670 ล้านบาท โดยปีที่ 1 (5 เดือน) จํานวน 830 ล้านบาท และปีที่ 2 (12 เดือน) จํานวน 1,840 ล้านบาท ใช้ระยะเวลา เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 67 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 68 ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับ เงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ ปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว
“สำหรับผู้ที่มีระดับการศึกษาปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี อัตราเงินเดือนของผู้ที่รับราชการอยู่ก่อนจะต้องไม่น้อยกว่าผู้ที่บรรจุเข้ารับราชการใหม่ โดยใช้คุณวุฒิระดับเดียวกัน และอัตราเงินเดือนหลังการปรับจะต้องไม่ทําให้ผู้ซึ่งเคยได้รับเงินเดือนสูงกว่ากลายเป็นผู้ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าผู้ดํารงตําแหน่งประเภทและระดับเดียวกันที่บรรจุในวุฒิเดียวกัน ที่ประชุมให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ( ก.พ.) ไปศึกษาและดําเนินการ
“ทีมข่าวการเมือง”