สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ว่า ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสกายนิวส์ ซึ่งเป็นสื่อของสหราชอาณาจักร ถึงสถานการณ์สงครามกับรัสเซีย ที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 3 ปี ว่าหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องการยุติการสู้รบ “ที่กำลังอยู่ในระดับร้อนแรง” รัฐบาลเคียฟ “ควรได้รับความคุ้มครอง” จากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ครอบคลุมอาณาเขตที่ยังอยู่ภายใต้อธิปไตยของยูเครน
เซเลนสกีกล่าวอย่างตรงไปตรงมาเป็นครั้งแรก ยอมรับว่า ความคุ้มครองดังกล่าวอาจต้องแลกด้วย “การเสียดินแดนบางส่วน” แต่เชื่อมั่นว่า “ดินแดนที่เหลืออยู่” จะมีความปลอดภัย หากอยู่ภายใต้ “ร่มเงาของนาโต” และข้อตกลงหยุดยิงหรือการเจรจาสันติภาพ “ต้องเป็นการรับประกัน” ว่ารัสเซียจะไม่รุกรานยูเครนอีก
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ยืนกรานมาตลอด ว่ายูเครนต้องไม่เข้าเป็นสมาชิกนาโต หรือมีความสัมพันธ์แบบใดก็ตามกับสหภาพทางทหารแห่งนี้ ที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ “หากต้องการสันติภาพอย่างแท้จริง”
ขณะที่สหรัฐและพันธมิตรอีกหลายประเทศกล่าวว่า เส้นทางของยูเครนในการเข้าสู่นาโต “ยังอีกยาวไกลมาก” และทางที่ดีควรให้สงครามกับรัสเซียยุติเสียก่อน นัยว่า “ไม่ต้องการเผชิญหน้าโดยตรง” กับรัฐบาลมอสโก
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลวอชิงตันชุดปัจจุบันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินหน้าเพิ่มความสนับสนุนทางทหารให้แก่ยูเครน ก่อนการเปลี่ยนผ่านอำนาจบริหาร ให้กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะกลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐอีกครั้ง ในวันที่ 20 ม.ค. นี้ ยกระดับความรุนแรงของสงครามในยูเครนขึ้นอีกขั้น โดยรัสเซียตอบโต้อย่างหนักหน่วง ทั้งด้วยการทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง หรือขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกรุ่นล่าสุด “โอเรชนิก” และการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนครั้งใหญ่อีกครั้ง.
เครดิตภาพ : AFP